ปัญหาการจัดการศึกษาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ปัญหาการจัดการศึกษาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ปัญหาการจัดการศึกษาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก หรือเด็กปฐมวัยนับเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต เพราะถือว่าเป็นการปลูกฝังทักษะต่างๆ ที่จำเป็นให้แก่เด็กสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเด็กในช่วงห้าปีแรกของชีวิตว่า “เป็นระยะที่สำคัญมากต่อการวางรากฐานบุคลิกภาพของชีวิตมนุษย์” ซึ่งข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐควรพิจารณาถึงการจัดการศึกษาในระดับนี้อย่างจริงจังและหาวิธีการในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และวรรคสอง กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย ประกอบกับมาตรา 258 กำหนดให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ อย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลดังต่อไปนี้  ด้านการศึกษา (1) ให้สามารถเริ่มดําเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งกำหนดให้การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในปัจจุบันมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของเด็กเล็ก (เด็กปฐมวัย) ให้มีประสิทธิภาพ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายบูรณ์  ฐาปนดุลย์)  ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงมอบหมายให้สำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐแสวงหาข้อเท็จจริงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ จากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในภูมิภาคต่าง ๆ  โดยได้ลงแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปริก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ่อนวัวเก่า อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ได้รับทราบปัญหาว่า ในด้านบุคลากรมีจำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่รับผิดชอบ ครูผู้สอนต้องบริหารจัดการงานด้านธุรการ อีกทั้งต้องจัดทำเอกสารประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ทำให้ครูผู้สอนไม่มีเวลาเตรียมแผนการสอนและจัดทำสื่อการสอน รวมทั้งเยี่ยมชมสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล ตำบลปริก เป็นโมเดลเทศบาลต้นแบบชุมชนสุขภาวะหรือตำบลน่าอยู่

สำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐได้ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการจัดการศึกษาเด็กเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ก่อสร้างตามแบบมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่การออกแบบภายในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่น อ่างอาบน้ำเด็กเล็ก ระดับพื้นห้องน้ำ มีลักษณะไม่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับเด็กเล็กและอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หลังจากเปิดใช้อาคารในส่วนของพื้นที่ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก จึงมิได้เปิดใช้งาน
2) โรงเรียนดอนแก้วเนรมิตปัญญา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากการประชุมหารือ  สรุป  ได้ว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของโรงเรียนดอนแก้วเนรมิตปัญญา ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยมโดยมีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในด้านต่าง ๆ ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศมาตรวจเยี่ยม

สำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐได้ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการจัดการศึกษาเด็กเล็กในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลอิสาณ ๒ (โรงเรียนอนุบาลเทศบาลอิสาณ 2) ตำบลิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผลการประเมินในระดับดี จากการประชุมหารือสรุปได้ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลอิสาณ 2 มีการบริหารจัดการในรูปแบบคล้ายโรงเรียนอนุบาล (ภาคเอกชน) เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นให้ความสำคัญในด้านการศึกษาและมุ่งส่งเสริมให้เด็กเล็กในท้องถิ่นมีองค์ความรู้และทักษะด้านกีฬา ด้านการ ประกอบอาชีพเกษตรกร จึงเป็นที่ยอมรับจากผู้ปกครองในท้องถิ่นและเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ

2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดทุ่งสว่างศรีอารมณ์ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผลการประเมินในระดับต้องปรับปรุงเร่งด่วน จากการประชุมหารือสรุปได้ว่า เด็กเล็กในพื้นที่ส่วนใหญ่อาศัย อยู่กับปู่ย่าตายาย ต่อมาหลังจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแรดได้รับการถ่ายโอนภารกิจศูนย์อบรมเด็กก่อนระดับประถมศึกษาในศาสนสถานจากกรมการศาสนา ทำให้เด็กเล็กมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้นำชุมชน ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ แต่เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแรดมีงบประมาณจำนวนจำกัด ดังนั้น ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในด้านต่าง ๆ เช่น อาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน สนามเด็กเล่น และงบประมาณใน
การจัดอาหารให้เด็กต้องขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในภูมิภาคต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่าง มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยสรุปได้ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงาน ไม่มีการกำหนดมาตรฐานการจัดการศึกษาเด็กเล็กที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน ไม่มีการประเมินคุณภาพครูผู้สอนประจำปี ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการประเมินตนเองโดยการกรอกแบบฟอร์มเพื่อประเมินตนเองและการประเมินคุณภาพจากภายนอกโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เฉพาะของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
2.  ด้านบุคลากร พบว่าครูผู้สอนไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษาด้านปฐมวัยโดยตรง และจำนวนบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก
3.  ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พบว่าสภาพอาคารชำรุดทรุดโทรมขาดงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มั่นคงแข็งแรง อาคารสถานที่มีลักษณะแออัด คับแคบ ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยและ การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
4.  ด้านวิชาการและกิจกรรมหลักสูตร ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและครูผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสื่อการเรียน การสอน ไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านวิชาการสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5.  ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ขาดการสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้ปกครอง ทำให้การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่มีประสิทธิภาพ
6. ด้านการส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ขาดการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ให้มีศักยภาพ ขาดการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการปฏิบัติงานด้านพัฒนาเด็กปฐมวัยระหว่างหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอน ครูผู้ดูแลเด็ก ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กของเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสม การคัดเลือกคณะกรรมการเครือข่ายเป็นระบบอุปถัมภ์

ต่อมา ภายหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ มีหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาเด็กเล็กได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ให้ใช้มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพรวมถึงใช้เป็นเครื่องมือประกันคุณภาพภายในเพื่อรองรับการตรวจ ประเมินจากต้นสังกัดและภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) ทั้งนี้ หลังจากการประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวพบว่าหน่วยงานด้านเด็กปฐมวัยยังขาดความชัดเจน และขาดประสิทธิภาพในการบูรณาการ การทำงานร่วมกัน เนื่องจากภารกิจด้านการดูแลเด็กปฐมวัยมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องในหลายหน่วยงานซึ่งแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกัน ตลอดจนมีตัวชี้วัดและมาตรฐานในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังขาดกลไกเชื่อมประสานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในภูมิภาค ตลอดจนยังขาดหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการศึกษาวิจัยและติดตามประเมินผล

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54ประกอบกับมาตรา 258  จ. ด้านการศึกษา จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับความคุ้มครอง ดูแล พัฒนาให้การเรียนรู้ และการศึกษาให้สมกับวัยอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง เสมอภาค และมีคุณภาพ เพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีรวมถึงการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและอำนวยความสะดวกในการบริการด้านการคุ้มครองสิทธิแก่เด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพรวมทั้งให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยได้รับความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและเพื่อให้การบริหารจัดการการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ โดยพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนแปดคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนแปดคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งต้องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศและการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานและ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยได้นำไปปฏิบัติ การอนุมัติแผนงบประมาณ และแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยการเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัยการเสนอให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย จากการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานขับเคลื่อนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 พบว่า การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดข้อจำกัดบางประการ เช่น การพัฒนาบุคลากรครูผู้ดูแลเด็ก การขาดสื่อ การเรียนการสอน และงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสถานที่ตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ นอกจากนี้ ในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มิได้บัญญัติเรื่องวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ ดังนั้น จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2551 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาดังกล่าว

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 และนำเสนอสรุปผลการประชุมพร้อมรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่เนื่องจากมีบางหน่วยงานเข้าใจวิธีการสรรหาคลาดเคลื่อนจึงเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิไม่ครบทุกด้านตามที่กฎหมายกำหนด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทบทวนกระบวนการสรรหาอีกครั้งซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ประชุมคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 และได้นำเสนอผลการสรรหาไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามขั้นตอนต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต) ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของระบบการบริหารการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย ซึ่งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมบริหารจัดการให้เด็กปฐมวัยในทุกภูมิภาคได้รับการคุ้มครอง ดูแล ในแนวทางที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้อาศัยอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3) เสนอรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐพร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง การจัดการศึกษาเด็กเล็กต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. เสนอให้เร่งรัดติดตามการดำเนินการสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับมาปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษาเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

2. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นให้เกิดการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพและจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยโดยเร็ว ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้ว คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยแผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีการกำหนดกรอบการบริหารจัดการแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย ติดตามผลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สนับสนุนแผนงานและโครงการการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ

3. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของประเทศและเป็นมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อให้ทุกหน่วยงานและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงาน ดังนั้นจึงเห็นควรกำชับและติดตามให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการดูแลเด็กปฐมวัยสำรวจศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และให้นำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานสถานศึกษาสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศ โดยรัฐควรกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

4. เสนอให้มีการกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและส่งเสริมการบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ต่างก็มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์การประเมินที่แตกต่างกันตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นเห็นควรให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ดูแลงานด้านเด็กปฐมวัย โดยจัดให้มีการให้บริการสาธารณสุข จัดการศึกษา และจัดสวัสดิการและให้บริการด้านการคุ้มครองสิทธิในหน่วยงานเดียวกัน (One Stop Service) โดยมีภารกิจร่วมกันในการดำเนินการเพื่อให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะด้านการให้บริการและการจัดสวัสดิการในด้านต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

5. ให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมและปลูกฝังให้ความสำคัญกับการผลิตครูและพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่มีการเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยที่มุ่งหวังให้เด็กเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพต่อไป โดยการพัฒนาและเสริมสร้างจริยธรรมครู ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู มีจิตอาสา มีคุณธรรมของครูด้านความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อเด็กปฐมวัย ปลูกฝังให้ครูปฐมวัยสามารถอดทนทำงานหนักและเสียสละกำลังเวลาและทุนทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยทำประโยชน์ให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อสังคม และส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นที่ยอมรับได้รับความชื่นชม เพื่อยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับมีเกียรติและเป็นที่ไว้วางใจ

6. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ การพัฒนางานด้านเด็กปฐมวัยควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะ ภาครัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาและ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้องตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสร้างเสริมเจตคติและค่านิยมที่ดีในสังคม การมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาในส่วนต่าง ๆ แทนที่การยกให้เป็นหน้าที่ของรัฐทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสนับสนุนการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับวิถีชุมชน ประกอบกับการปลูกฝังค่านิยม ความมีวินัย รู้จักหน้าที่ การเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตนและการมีจิตสาธารณะ โดยมีมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชน และการแลกเปลี่ยนเพื่อจัดการองค์ความรู้ระหว่างกัน

             การผลักดันของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้มีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษา นับว่าเป็นความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง  เด็กเล็ก หรือเด็กปฐมวัย ควรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเลิศ ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เจริญเติบโตได้สมวัย มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และมีความสุขในการเรียนรู้ สามารถที่จะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่และเป็นพลเมืองของประเทศที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป