ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำข้อเสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตโฟลิก 0.4 มิลลกรัม สิทธิประโยชน์จากรัฐที่จัดบริการให้หญิงวัยเจริญพันธุ์

ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำข้อเสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตโฟลิก 0.4 มิลลกรัม สิทธิประโยชน์จากรัฐที่จัดบริการให้หญิงวัยเจริญพันธุ์

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 55 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้าง ให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มี การพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตระหนักถึงสิทธิของประชาชนด้านสาธารณสุขว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องในการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพตามอำนาจหน้าที่หรือไม่ ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า หญิงมีครรภ์ควรได้รับโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความพิการในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งควรจะต้องรับประทานขนาด 0.4 มิลลิกรัมทุกวันก่อนการตั้งครรภ์ โดยเน้นที่ช่วงเวลาสามเดือนก่อนการตั้งครรภ์และสามเดือนแรกหลังจากการตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งจากข้อมูลการรายงานขององค์การอนามัยโลก ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความพิการแต่กำเนิดแก่ทุกประเทศทั่วโลก โดยเสนอให้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือหญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิก (folic acid supplementation) 400 ไมโครกรัมทุกวันก่อนตั้งครรภ์ แต่การที่ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาดดังกล่าว ทำให้การป้องกันปัญหาความพิการในเด็กแรกเกิดยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)มีราคาสูง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถหามารับประทานได้ ดังนั้น จึงขอให้องค์การเภสัชกรรมผลิตวิตามิน  โฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในการป้องกันปัญหาความพิการในเด็กทารกแรกเกิด เนื่องจากโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมีขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้แสวงหาข้อเท็จจริงและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์หากรับประทานโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด สามารถลดความพิการแต่กำเนิดของเด็กทารกแรกเกิดได้ถึงร้อยละ 50 โดยสามารถลดโอกาสการเกิดโรคหลอดประสาทไม่ปิด โรคหัวใจพิการ ความผิดปกติของแขนขา ความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนัก ลดโอกาสการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ และลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีข้อเสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม ซึ่งจัดเป็นยาเพื่อให้ประชาชนได้หามารับประทานได้ง่ายขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร ให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะสตรีในวัยเจริญพันธุ์เกี่ยวกับประโยชน์ของโฟลิกเอซิด (วิตามิน B9) เพื่อให้ได้ทราบถึงรายละเอียดข้อมูลความสำคัญของการรับประทาน  ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด รวมถึงดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)ได้อย่างทั่วถึง

จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวข้างต้นและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้มีบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนตามมาตรา 55 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีความเห็นว่าเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ป้องกันความพิการแต่กำเนิด และลดปริมาณผู้พิการที่จะเกิดขึ้น จึงจัดทำโครงการสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร  กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ได้อย่างทั่วถึงและไม่เสียค่าใช้จ่าย

ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานระดับจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น และลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงใน 4 ภูมิภาค รวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดเชียงราย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร เข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) อย่างทั่วถึง ซึ่งจากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่าหน่วยงานสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ส่วนใหญ่ดำเนินโครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ ตามนโยบายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 -34  ปี ทุกคน ที่พร้อมตั้งใจและวางแผนจะมีลูกได้รับการสนับสนุนให้มีโภชนาการที่ดีด้วยการเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร่วมกับการได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะโลหิตจางแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิดนำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัยลูกแข็งแรงแต่ยังพบปัญหาและอุปสรรค คือ ปัญหาด้านการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น มีการส่งเสริมและสร้างความรับรู้ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ได้ในระดับหนึ่ง แต่การดำเนินการยังไม่ต่อเนื่องและทั่วถึงจึงไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหญิงวัยเจริญพันธุ์ ปัญหาการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบางแห่งมิได้มีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ HDC (Health Data Center) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ปัญหาด้านกลไกการขับเคลื่อนโครงการตามนโยบาย ปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้การดำเนินงานโครงการต่างๆ ตามนโยบายไม่ต่อเนื่องและทั่วถึง ปัญหาด้านกฎหมายสำหรับคุ้มครองมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร ปัญหาด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากจำนวนบุคลากรมีจำนวนไม่เพียงพอต่อสัดส่วนประชากรในพื้นที่ทำให้มีภาระงานหนักต้องปฏิบัติงานหลายภารกิจในช่วงเวลาเดียวกัน และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานยังขาดทักษะการให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ รวมถึงความสำคัญประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) และปัญหาการสื่อสารประชาสัมพันธ์และภาคีเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันเป็นสังคมการสื่อสารโดยใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน แต่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในเชิงรุกโดยการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ในระบบและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งในชุมชน ยังขาดความหลากหลาย ทำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ยังไม่สามารถเข้าถึงการได้รับโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ประกอบกับในการดำเนินงานเกี่ยวกับกลุ่มงานแม่และเด็กมีลักษณะการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งยังขาดผู้ประสานความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่

จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายควรได้ทราบถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ช่วยลดความพิการแต่กำเนิดของทารกแรกเกิด และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมตลอดถึงสิทธิประโยชน์จากรัฐที่จัดบริการให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ในการได้รับโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) และวิธีการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3) เสนอรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ                             พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. เสนอให้รัฐบาลผลักดันเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันในเชิงนโยบายให้หน่วยงานได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรต่อไป เนื่องจากในประเทศไทยมีสถิติเด็กเกิดใหม่ ประมาณ 700,000 รายต่อปี และมีเด็กพิการแต่กำเนิดมากกว่า 20,000 รายต่อปี ซึ่งตัวเลขของเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

2. เสนอให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติและระดับจังหวัดอันจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เสนอให้รัฐบาลผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร เพื่อให้ความคุ้มครองมารดาและหญิงตั้งครรภ์ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนด ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ และหลังการคลอดบุตรแล้วให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำคู่มือสิทธิแม่และเด็กโดยรวบรวมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการดำเนินการเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองช่วยเหลือจากรัฐ

4. เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในด้านการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อในระยะยาวจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเพื่อให้การจัดทำนโยบายเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพประชากรสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป

5. เสนอให้หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง มหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์การเภสัชกรรม และกรุงเทพมหานคร บูรณาการความร่วมมือในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรทราบถึงประโยชน์ของการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) เพื่อลดความพิการแต่กำเนิดของเด็กทารกแรกเกิด โดยประชาสัมพันธ์สร้างความรอบรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งนี้ เนื่องจากภารกิจการประชาสัมพันธ์มีความเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จึงเห็นควรให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทการประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด และแต่งตั้งคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ต่อไป

6. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ HDC (Health Data Center) เพื่อให้ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ HDC (Health Data Center) มีคุณภาพ ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ และทันต่อสถานการณ์ สามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคในระดับพื้นที่และระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. เสนอให้มีการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำความรู้ในเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในเด็กแรกเกิดแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ทุกจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันในการดำเนินงานด้านการสาธารณสุขมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญในการช่วยปฏิบัติงานดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งการช่วยปฏิบัติงานดังกล่าว สร้างความไว้วางใจต่อประชาชนในชุมชนเป็นอย่างมาก

8. เสนอให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในระดับจังหวัด โดยกำหนดให้เป็นระเบียบวาระของจังหวัด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการ ตามนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานด้านการติดตามประเมินผล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหญิงวัยเจริญพันธุ์รับรู้และเข้าถึงโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)    อันจะเป็นการลดความพิการแต่กำเนิดลงได้

9. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจังหวัดนำร่องเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข และจัดทำคู่มือเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรด้านสุขภาพในทุกจังหวัดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

การดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

1. นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชามอบหมายกระทรวงสาธารณสุขนำความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อจัดทำเป็นประเด็นพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป

                   2. หลังจากองค์การเภสัชกรรมมีการผลิตโฟลิก เอซิด 0.4 มิลลิกรัม (Folic F GPO)
ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โรงพยาบาลของรัฐ และสภากาชาดไทยได้ติดต่อขอซื้อโฟลิก เอซิด ขนาด 0.4 มิลลิกรัม เพื่อให้บริการประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป
ณ ร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรมทุกแห่ง

3. กรมอนามัยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบริการด้านการเตรียมความพร้อม
ก่อนมีบุตรของกรมอนามัย โดยส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้รับประทานวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก
ที่สามารถช่วยลดภาวะโลหิตจางและลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการในทารกแรกเกิด