ยกที่ให้รัฐ..ขายต่อได้ไง

ยกที่ให้รัฐ..ขายต่อได้ไง

นายฟูม(นามสมมุติ) เป็นเจ้าของที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในระหว่างมีชีวิต นายฟูม  ได้อนุญาตให้รัฐบาลขุดสระเก็บน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำในการทำการเกษตร เมื่อประมาณ พ.ศ. 2541 รัฐบาลโดยศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ มอบให้ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจัดทำป้ายโครงการมีข้อความว่า “โครงการศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่สระเก็บน้ำหมู่ที่ 4  ความจุประมาณ 28,500 ลูกบาศก์เมตร รัฐบาลสร้างมอบให้ราษฎรหมู่ที่ 4  ง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 เพื่อใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกันดำเนินการโดยศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นับแต่การขุดสระเก็บน้ำจนกระทั่งปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำดังกล่าวมานานกว่า ๒๐ ปี ต่อมาเมื่อ นายฟูม  เสียชีวิต ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตกทอดมายังบุตรสาว ซึ่งได้รับที่ดินมาทางมรดก และบุตรสาวของนายฟูมได้โอนขายที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 38.8. ตารางวา ให้แก่นายสม (นามสมติ)

จนกระทั่ง เมื่อปี 2563 ได้มีบุคคลนำลวดหนามล้อมรั้วและห้ามไม่ให้ชาวบ้านหมู่ที่ 4  ใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำอีกต่อไป เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรม และรื้อถอนทำลายป้ายโครงการ “โครงการศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่สระเก็บน้ำหมู่ที่ 4 ที่รัฐบาลได้สร้างมอบให้ราษฎรในพื้นที่

ประชาชนในพื้นที่บ้านน้ำโจนจึงได้ร้องเรียน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งไม่ปกปักรักษา ดูแล สระน้ำสาธารณะประโยชน์ ซึ่งศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่ กรมชลประทาน ขุดให้ประชาชนบ้านน้ำโจนใช้ร่วมกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง สำนักงานชลประทานที่ 9 กำนันตำบลแห่งหนึ่ง และผู้ร้องเรียน จากการประชุมสรุปได้ว่า ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวมีนายสมจิตร เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์  มาจากบุตรสาวของนายฟูม  แต่โฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่ รูปสระเก็บน้ำบ้านน้ำโจน และมีข้อความในสารบัญจดทะเบียนด้านหลังปรากฏว่าที่ดินบางส่วนตกอยู่ในภาระจำยอม เรื่อง ทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ และสาธารณูปโภคอื่นๆ ต่อมาเจ้าของที่ดินรอบสระเก็บน้ำบ้านน้ำโจน ล้อมรั้วลวดหนามทำให้ชาวบ้านหมู่ที่ 4  ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำดังกล่าวได้ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายประสงค์ที่จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย

ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า สระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจนตามข้อร้องเรียนตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 82351 เลขที่ดิน 426 เล่มที่ 824 หน้า 51 ตำบลแห่งหนึ่ง จังหวัดระยอง ซึ่งดำเนินการขุดให้ประชาชนบ้านน้ำโจน หมู่ที่ 4 ตำบลแห่งหนึ่ง จังหวัดระยอง ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยปรากฏป้ายซีเมนต์บริเวณสระเก็บน้ำมีข้อความว่า “โครงการศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่สระเก็บน้ำหมู่ที่ 4 ความจุประมาณ ๒๘,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร รัฐบาลสร้างมอบให้ราษฎรหมู่ที่ 4 (จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 เพื่อใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกันดำเนินการโดยศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ทั้งจากเอกสารหลักฐานปรากฏว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินให้กับทางราชการเพื่อขุดสระเก็บน้ำบ้านน้ำโจน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับการจัดสรรงบประมาณงานขุดสระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวจะไม่ปรากฏรูปแผนที่สระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์ตามเรื่องร้องเรียนก็ตาม แต่จากพยานเอกสาร คือ หนังสือแสดงเจตนายกที่ดินให้กับทางราชการเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมทั้งปรากฏมีการใช้สระน้ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าสระเก็บน้ำดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553

ต่อมา อำเภอแกลงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน    โดยคณะกรรมการมีความเห็นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการฟ้องเพิกถอนการโอนสระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน ซึ่งปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีหนังสือไปยังอัยการจังหวัดระยองเพื่อแก้ต่างคดีให้แล้ว ทั้งนี้ จังหวัดระยองได้รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ  กรณีดังกล่าวถือได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งได้ดำเนินการเพื่อปกปักรักษาดูแล สระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจนตามกฎหมายแล้ว กรณีการร้องเรียนในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนแล้ว