สผผ.ลงพื้นแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ณ จังหวัดน่าน

     เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 10.00 . ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายวทัญญู  ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนางสาวพรประภา  เหม่งเวหา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ประชุมร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดลำปางเชียงใหม่แพร่น่านลำพูน สถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน  และอำเภอเมืองน่าน ตลอดจนผู้ร้องเรียนและราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน  เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของราษฎรในท้องที่หมู่ที่ 8 บ้านทุ่งขาม ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่านกรณีร้องเรียนว่า กรมที่ดิน และสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน ไม่ดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 30 ราย เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อน  โดยที่ประชุมได้รับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งแจ้งว่า ยังไม่ได้รับโฉนดที่ดิน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินที่จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเมื่อปีงบประมาณ .. 2564 ยังไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาน้อย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 59 (.. 2502) หรือที่ดินของรัฐประเภทอื่นหรือไม่และการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ยังไม่แล้วเสร็จ

     จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินฯ ยังไม่สามารถเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎรทั้ง 30 ราย ได้ นั้น เนื่องจากเส้นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาน้อย  ที่กรมป่าไม้ได้ถ่ายทอดและลงนามรับรองแนวเขตลงในระวางแผนที่สำหรับออกโฉนดที่ดิน มิได้ทับซ้อนกับตำแหน่งที่ดินของราษฎร แต่เส้นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาน้อย ที่คณะกรรมการระดับจังหวัดเสนอต่อคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) เมื่อปี .. 2564 ทับซ้อนกับที่ดินของราษฎร เมื่อเส้นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งสองเส้นมีความแตกต่างกัน และยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่สามารถทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎรได้ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมหารือและบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ พบว่า  ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า  ตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินที่ราษฎรทั้ง 30 ราย ครอบครองทำประโยชน์ ตั้งอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร  เขตปฏิรูปที่เพื่อเกษตรกรรม และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนกรณีเส้นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีความแตกต่างกันนั้น เกิดจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคของคณะทำงาน One Map ระดับจังหวัด ในขั้นตอนการถ่ายทอดเส้นแนวเขตลงในระวางแผนที่ ซึ่งสามารถทำการแก้ไขให้ถูกต้องได้  ประกอบกับในปีงบประมาณ.. 2566  คณะกรรมการกำหนดพื้นที่ที่จะทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและสอบเขตโฉนดที่ดิน จังหวัดน่าน ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ที่มีการร้องเรียนเป็นพื้นที่เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินแล้ว ดังนั้น หากแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐเกิดความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกหน่วยงานแล้ว ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินฯ ย่อมสามารถทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ดังกล่าวได้

     ในการนี้ ที่ประชุมได้มติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่ โดยให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณพื้นที่ที่มีการรัองเรียน เร่งมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ตรวจพบ และยืนยันแนวเขตที่ถูกต้องซึ่งไม่กระทบสิทธิในที่ดินของราษฎร ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ One Map ระดับจังหวัด และอธิบดีกรมป่าไมั ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงและรับรองเส้นแนวเขตที่ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อเป็นข้อมูลแก่กรมที่ดินสำหรับการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎรในพื้นที่ที่มีการร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ .. 2566 ต่อไป พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ รวมทั้งประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อแจ้งสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเส้นแนวเขต One Map บริเวณพื้นที่ที่มีการร้องเรียนให้ถูกต้องก่อนที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบ

     ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้อธิบายและชี้แจงให้ผู้ร้องเรียนและราษฎรในพื้นที่ทราบถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนตอบข้อซักถามต่าง ของราษฎร จนกระทั่งเกิดความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว