ผู้ตรวจการแผ่นดิน-หน่วยงานภาคี ลงพื้นที่เชียงรายศึกษาเชิงระบบรับมือสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐ เดินทางเข้าเยี่ยมชมพร้อมประชุมกำหนดแนวทางการดำเนินงานการรับมือสังคมผู้สูงอายุของโรงเรียนวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการ “โครงการศึกษาการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี” โดยมีสำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์เข้าร่วมทำสกู๊ปเพื่อประกอบผลการดำเนินงานดังกล่าว

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงราย สำนักงานกิจการผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงราย  อบต.สันกลาง ลงพื้นที่อำเภอพานดูระบบสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ณ โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝายต้นแบบความเข้มแข็งของการบูรณาการเพื่อการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนแก่ผู้สูงอายุด้วยศักยภาพภูมิปัญญาพื้นบ้านช่วยชุมชุน และเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงรายศูนย์กลางแห่งพื้นที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเมือง พร้อมสนับสนุน อปท. ให้เดินหน้าร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพ

สืบเนื่องจากแนวคิดของนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ทราบว่าปัจจุบันมีข้อบ่งชี้ถึงประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% และอีก 9 ปี ข้างหน้าในปี 2574 จะเข้าสู่ขั้นสูงสุดถึง 28% จะมีคนไทยอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้น การวางแผนและปฏิบัติการเพื่อรับมือกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศต้องตระหนักและเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนัยยะสำคัญสองประการ ประการแรกตามหลักสากลถือว่าผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศเพราะเป็นผู้ที่สั่งสมประสบการณ์ชีวิตในมิติต่าง ๆ มามากมายพร้อมและสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับประชากรของประเทศในรุ่นต่อ ๆ ไป และอีกนัยยะหนึ่งผู้สูงอายุถือเป็นปูชนียบุคคลหากไม่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ก็จะไม่มีทุกคนในวันนี้

ดังนั้นในมิติการบริหารจัดการของภาครัฐและท้องถิ่นจึงต้องตระหนักเกี่ยวกับผู้สูงอายุด้านสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล สวัสดิการ สภาพแวดล้อม สังคม ชีวิตความเป็นอยู่หากไม่มีการเตรียมการที่ดีประเทศจะมีปัญหาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ละเลยและทอดทิ้งประกาศให้ “สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ” ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 โดยมีแผนกลไกพัฒนา และระบบการขับเคลื่อน 3 ระดับ คือ ระดับชาติโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำกับติดตามนโยบายการขับเคลื่อน ระดับกระทรวงโดยมี 6 หน่วยงานหลักร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุ และระดับปฎิบัติการ โดยหน่วยงานส่วนภูมิภาคพัฒนาตามกรอบมุ่งเน้นสู่การรองรับอย่างมีคุณภาพใน 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม แต่ในการนี้ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการบูรณาการการประสานงาน เช่น ขาดเจ้าภาพหลักและหน่วยสนับสนุนซึ่งไปเกี่ยวพันกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับบทบาท หน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแสวงหาข้อเท็จริงในกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังปฏิบัติไม่ครบถวนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพื่อที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้านการบูรณาการหรือแผนงานที่ชัดเจน ดังนั้น จึงจัดทำโครงการศึกษาการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีส่วนกลาง เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ  สปสช. สสส. รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงศึกษาดูงานหลายแห่งที่แห่งประสบความสำเร็จโดยมีแนวทางดำเนินงานแบบ Bottom-Up ศึกษาจากล่างขึ้นบนซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เป็น Top-Down คือ นโยบายระดับชาติสู่การปฏิบัติ ซึ่งการศึกษาเชิงระบบครั้งนี้ดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ ต้นน้ำ โดยท้องถิ่นขับเคลื่อนผู้สูงอายุที่กำลังดำเนินการ ส่วนกลางน้ำ หน่วยงานภาคีส่วนกลางต่าง ๆ ที่กล่าวมาให้การสนับสนุน รวมถึงสิ่งที่ได้จากการดูงานเชิงประจักษ์และการถอดบทเรียนจากพื้นที่นำร่องทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 10 แห่ง ที่พบว่าในแต่ละแห่งมีจุดเด่นของการดำเนินการต่างกันจนเป็นที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย เมื่อได้บทเรียนจะนำมาเป็นตัวร่างนโยบายและกรอบดำเนินงานผ่านเวทีสาธารณะรับฟังความคิด สำหรับปลายน้ำ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปพิจารณาขยายผล  ซึ่งในส่วนของโรงเรียนผู้สูงอายุหัวฝาย อำเภอพาน และมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย ที่กำหนดลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อศึกษาเชิงระบบและเรียนรู้งานระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับพื้นที่โดยชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์และถอดบทเรียนจนได้ข้อเสนอเชิงปฏิบัติและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐที่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ระดับชาติมาสู่การพัฒนาระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุได้รับการดูแลในทุกมิติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งกลไกที่สนับสนุนความสำเร็จอย่างยั่งยืน คือ องค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง  คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อมประสานในระดับจังหวัด

โดยในช่วงเช้าคณะได้กราบนมัสการท่านพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย และประธานครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินงานทราบว่าปัจจุบันโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝายได้มีการพัฒนาจนเข้มแข็งและเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบที่สามารถนำไปปรับใช้กับหลาย ๆ องค์กรได้อีกทางหนึ่ง  การดำเนินงานของเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงรายได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านต่าง ๆ จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ หลายฉบับ รวมถึงแผนส่งเสริมและขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ และแก้ไขปัญหาสังคมให้ผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ โดยยึดหลักในการขับเคลื่อนคือ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน โดยแบ่งสาระการเรียนรู้ออกเป็น 6 มิติ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ มิติที่ 2 ด้านเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพ มิติที่ 3 ด้านศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม มิติที่ 4 ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและจิตอาสา มิติที่ 5 ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมิติที่ 6 ด้านสวัสดิการ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อความศรัทธา และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยขยายผลไปยัง 17 จังหวัดภาคเหนือ และอีก 3 จังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันมีเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วจังหวัดเชียงราย 164 แห่ง มีโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่ 1,000 กว่าแห่ง

ในช่วงบ่ายคณะได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงรายโดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงรายและคณะให้การต้อนรับพร้อมกับกล่าวรายงานว่านครเชียงรายมีความหลากหลายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ สำหรับการขับเคลื่อนนครเชียงรายให้เป็นเมืองน่าอยู่ คือหลักการมีส่วนร่วม

ทั้งการพัฒนาเมืองและทรัพยากรมนุษย์ โดยมองว่าต้องทำให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ประชาชนได้รับการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงวัย เทศบาลนครเชียงรายได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ทำให้มหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย มหาวิทยาลัยเพื่อคนสูงวัยแห่งแรกของประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เติมเต็มสร้างความสุขให้ทั้งตัวผู้สูงอายุและลูกหลาน โดยพร้อมที่จะส่งต่อสิ่งดีดีให้กับทุกครอบครัวลดภาระ ค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความสุข 3 มิติ โมเดล” เป็นการสะท้อนปัญหามาสู่แนวปฏิบัติปรับเปลี่ยน “ภาระ” เป็น“พลัง” เป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงรายก่อตั้งเป็นปีที่ 6 ผลิตนักศึกษาเป็นรุ่นที่ 9  มี 16 วิชาเรียน รับสมัครนักศึกษาในเขตเทศบาลตั้งแต่อายุ 55 ปี หากนอกเขตเทศบาลรับตั้งแต่อายุ 60 ปี เป็นต้นไปซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้สำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์สรุปผลถอดองค์ความรู้เพื่อเตรียมการดำเนินงานขั้นต่อไป