ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคณะรัฐมนตรี ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 เกี่ยวกับอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ การพัฒนาระบบการตรวจสอบ เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด

     ​สืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับกรณีเด็กนักเรียนในหลายจังหวัดบริโภคไส้กรอกถูกนำส่งโรงพยาบาลในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยจากการตรวจสอบของ ศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานว่า เด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน จำนวน 14 ราย ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี

     เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 จึงได้มีการโพสต์ลงสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก “Ramathibodi Poison Center” เตือนอันตรายว่า ให้ผู้ปกครองระมัดระวังการซื้อไส้กรอกให้กับเด็ก โดยเฉพาะไส้กรอกไม่มียี่ห้อและ ไม่มีแหล่งที่มา เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กป่วยด้วยภาวะ Methemoglobin (เมธฮีโมโกลบิน) โดยทั้งหมดบริโภคไส้กรอกไม่มียี่ห้อ และรายละเอียดฉลากไม่ครบถ้วน จากกรณีดังกล่าวกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ (สสจ.) จับกุมผู้กระทำความผิดที่จังหวัดชลบุรี และเข้าตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารแปรรูป พบว่า การผลิตไม่ได้มาตรฐาน GMP) ไม่มีเลขจดทะเบียน อย. ที่ถูกต้อง ไม่มีระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติที่ดีในโรงงานผลิตอาหาร

     ปัญหาอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังขาดการตรวจสอบอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) อันจะมีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพโดยตรงต่อผู้บริโภค ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และมาตรา 61 ได้กำหนดว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญาหรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ การพัฒนาระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด (Post-Marketing) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 61 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เห็นชอบให้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 230 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 22 (3) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำรายงานพร้อมข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีทราบ

​     สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 3 ครั้ง ประกอบด้วย ผู้แทนสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข  ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับทราบข้อมูลและแผนการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตลอดจนศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสาร บทความทางวิชาการ งานวิจัย เว็บไซต์ และสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อจัดทำรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้น เพื่อความชัดเจน เข้มงวด ในการกำกับดูแลการผลิตและการคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทางก่อนถึงผู้บริโภค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยการกำหนดระบบควบคุมคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร การติดตามและการตรวจสอบย้อนกลับ กรณีเกิดปัญหาจากความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร การกำหนดบทบาทของหน่วยงานภาครัฐให้มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งสามารถสรุปสภาพปัญหาที่สำคัญ ได้แก่

(1)  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. มีความล่าช้า เนื่องจากพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมากว่า 43 ปี จึงได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้มาตรการควบคุมอาหารสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในการ ผลิตและการโฆษณาอาหาร เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามหลักสากล ทั้งนี้ ได้มีการเสนอเรื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนบัดนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….สภาผู้แทนราษฎร

(2) ระบบควบคุมการผลิตอาหาร Good Manufacturing Practice (GMP) ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติในการผลิตอาหาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมั่นใจต่อการบริโภคไม่สามารถบังคับใช้กับผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึง

(3) มาตรการเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย การตรวจสอบย้อนคืน (Traceability) การเรียกคืนสินค้า (Product Recall) และการเตือนภัย (Rapid Alert) ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานร่วมรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ไม่มีข้อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันที่ชัดเจนตลอดจนขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์

(4) การไม่มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    

(5) การขาดจิตสํานึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และความต่อเนื่องในการรณรงค์ เสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย (Smart Consumers)

     ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 230  (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560ประกอบมาตรา 22 (3) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ การพัฒนาระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด (Post-Marketing) ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. เสนอให้รัฐสภา เร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้แล้วเสร็โดยเร็ว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารในปัจจุบัน โดยเฉพาะอาหารแปรรูปประเภทเนื้อสัตว์ที่มีการลักลอบผลิตโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ไม่ครอบคลุม และทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค รวมถึงผู้กระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัว ต่อกฎหมาย หวังเพียงผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบธุรกิจโดยขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

2. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแนวทางการยกระดับระบบควบคุมคุณภาพอาหารของไทยตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตมาตรฐาน GMP และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารขั้นพื้นฐานแล้ว (ความปลอดภัยอาหาร)  โดยกำหนดให้มีการยกระดับระบบการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยอาหารในระบบ GMP สากล ระบบ HACCP รวมถึงจัดทำแผนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศได้รับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร และกำหนดระยะเวลาเตรียมการให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถปรับปรุงคุณภาพให้เข้าสู่ระบบความปลอดภัยอาหารดังกล่าวได้ โดยให้หน่วยงาน
ของรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย

​​3. เสนอให้รัฐบาลแจ้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดในการบูรณาการกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเรียกคืนสินค้า (Product recall) และการแจ้งเตือนภัย (Rapid Alert)
กรณีเกิดภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับความด้านปลอดภัย เพื่อให้มีกลไกหรือระบบที่ผู้ผลิตสามารถเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาด้านความปลอดภัยออกจากตลาดได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์โดยอาจนำเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์ใช้
ในการปฏิบัติงานเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

​​4. เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของบประมาณและอัตรากำลังบุคลากร เพื่อให้เกิดมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารไม่ปลอดภัย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน

5. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำระบบรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภค เพื่อให้มีระบบส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว และมีหน่วยงานกลางเพื่อแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งจัดทำระบบฐานข้อมูลกลาง (Data Center) เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้ระบบส่งต่อข้อมูลมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์รวมถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยและอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ตลอดจนภาคประชาชน และมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานกลาง (Data Center)

6. เสนอให้รัฐบาลส่งเสริม รณรงค์การสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการ และเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้บริโภคที่มีความชาญฉลาด (Smart Consumer) เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้บริโภคสามารถปกป้องสิทธิของตนได้