ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา กรณีการขออนุญาตก่อสร้างทางข้ามลำปรุเป็นทางเข้าออกที่พักอาศัย

​     ผู้ร้องเรียนมีที่พักอาศัยอยู่บนที่ดิน ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ และต้องการจะก่อสร้าง ทางข้ามลำปรุเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก ไปยังที่พักอาศัย จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องเรียนยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างทางข้ามลำปรุต่อผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ผู้ร้องเรียนจึงทำหนังสือขออนุญาตตามคำแนะนำ ซึ่งได้รับหนังสือตอบกลับมาว่า การก่อสร้างดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้น ผู้ร้องเรียนจึงดำเนินการก่อสร้างทางข้ามลำปรุแบบวางท่อถมดินจนแล้วเสร็จ ต่อมาเทศบาลในพื้นที่ดังกล่าวได้มาแจ้งผู้ร้องเรียนว่า พื้นที่ที่ก่อสร้างทางข้ามลำปรุอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลดังกล่าว และมีคำสั่งซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงได้ห้ามใช้ทางข้ามลำปรุและให้รื้อถอน ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อเทศบาลตำบลดังกล่าว แต่มิได้รับการแจ้งผลการพิจารณาใด ๆ  จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ผลปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพิกถอนคำสั่งเทศบาลที่สั่งให้ผู้ร้องเรียนรื้อถอนทางข้ามลำปรุหลังจากนั้น เทศบาลดังกล่าวจึงแจ้งต่อผู้ร้องเรียนให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างทางข้ามลำปรุให้ถูกต้อง ผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นเอกสารขออนุญาตอีกครั้ง

     ​ต่อมา ผู้ร้องเรียนได้รับจดหมายแจ้งว่า คำขออนุญาตที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นไว้ ขาดเอกสารหรือเอกสารไม่ถูกต้อง ให้ผู้ร้องเรียนรับคำขออนุญาตคืน เพื่อจัดการแก้ไขและจัดส่งเอกสารให้ครบถ้วน ภายใน  30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง แต่ผู้ร้องเรียนไม่สามารถจัดหาเอกสารดังกล่าวได้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การก่อสร้างทางข้ามลำปรุของผู้ร้องเรียนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วจึงเป็นการออกเอกสารย้อนหลัง จึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องเรียนมิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นได้จากเมื่อผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีทางเข้า ออกที่พักอาศัย     แต่เนื่องจากที่ดินที่เป็นที่ตั้งของที่พักอาศัยนั้นอยู่ติดกับลำปรุซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะ ผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นคำ   ขออนุญาตก่อสร้างทางข้ามลำปรุดังกล่าว โดยมิทราบว่าพื้นที่ที่ก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล และต่อมาภายหลังจากที่ศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่เทศบาลสั่งให้ผู้ร้องเรียน   รื้อถอนทางข้ามลำปรุ ผู้ร้องเรียนได้พยายามดำเนินการยื่นเอกสารต่อเทศบาล เพื่อแจ้งก่อสร้างตามมาตรา 39ทวิแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่ขาดเอกสาร คือ ความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) จากการประสานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินปรากฏว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11(นครราชสีมา) ได้มีหนังสือให้ความเห็นว่า การก่อสร้างดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมือง และการรักษาสภาพแวดล้อมของจังหวัดนครราชสีมา และไม่ขัดข้องหากจังหวัดนครราชสีมาจะพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าว

     ​ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ร้องเรียน เทศบาลตำบลดังกล่าวจึงได้ประสานญาติผู้ร้องเรียน (เนื่องจากผู้ร้องเรียนเสียชีวิตแล้ว) ขอให้ยื่นแจ้งก่อสร้าง ตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใหม่อีกครั้ง จากนั้นเทศบาลตำบลบ้านใหม่ได้ตรวจพิจารณาเอกสารประกอบการแจ้ง ตลอดจนตรวจสอบทางข้ามที่ได้ก่อสร้างว่าเป็นไปตามแบบที่แจ้งหรือไม่ และดำเนินการออกหนังสือรับรองการก่อสร้างทางข้ามลำปรุตามคำร้องเรียนให้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ปัญหาตามเรื่องร้องเรียนนี้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว อนึ่ง แม้ว่าปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร้องเรียนจะได้รับการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ปรากฏว่า ปัจจุบันลำปรุตามคำร้องเรียน ประชาชนมิได้ใช้เพื่อสัญจรแล้ว แต่ใช้เป็นเพียงทางระบายน้ำเท่านั้น อีกทั้งทางข้ามลำปรุดังกล่าว เป็นการก่อสร้าง ในลักษณะการใส่ท่อลอดทำให้น้ำในลำปรุสามารถไหลได้ตามปกติ มิได้ทำให้ความเป็นสาธารณประโยชน์นั้นเสื่อมถอยลงไป ไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร ประกอบกับการก่อสร้างทางข้ามลำปรุ โดยเอกชนรายอื่น หรือแม้กระทั่ง โดยเทศบาลตำบลเองในบริเวณพื้นที่ตลอดแนวลำปรุดังกล่าว ก็มิได้มีการดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดิน เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และเพื่อให้การดำเนินการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างทางข้ามลำปรุในพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลบ้านใหม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติและป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องร้องเรียนในทำนองนี้อีก

​    ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้จังหวัดนครราชสีมากำชับให้อำเภอเมืองนครราชสีมา และเทศบาลตำบลดังกล่าว ยึดถือแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาต กรณีตามคำร้องเรียนนี้เพื่อใช้กับกรณีอื่นที่มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป