องค์การบริหารส่วนตำบลอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการตอกเสาเข็มของบ้านข้างเคียง ทำให้บ้านของผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหาย

     ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครปฐมได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่ดิน โดยสรุปว่า บ้านข้างเคียงของ ผู้ร้องเรียนได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย เนื่องจากได้ใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มทำให้ผนังบ้านของผู้ร้องเรียนแตกร้าว โดยการก่อสร้างเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว พื้นที่ประมาณ 46 ตารางวาทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหรือแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบแต่อย่างใด โดยผู้ร้องเรียนประสงค์จะร้องเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ใน 2 ประเด็น คือ 1) กรณีอนุญาตให้บ้านข้างเคียงผู้ร้องเรียนดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2)  กรณีละเลยไม่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาจากการตอกเสาเข็มของบ้านข้างเคียงที่ประชิดรั้วบ้านผู้ร้องเรียน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน

     ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีร้องเรียนว่า องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ได้อนุญาตให้บ้านข้างเคียงผู้ร้องเรียนก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการตอกเสาเข็มของบ้านข้างเคียงทำให้บ้านของผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหาย นั้น จากการดำเนินการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และข้อท็จจริงที่ได้รับจากอำเภอกำแพงแสนและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่  พร้อมทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการลงพื้นที่และรับฟังการชี้แจงจากองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ โดยสรุปว่า

     องค์การบริหารส่วนดังกล่าวได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สถานที่ก่อสร้าง แบบแปลน แผนผัง ในการยื่นแบบขออนุญาตแล้วเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงออกใบอนุญาตก่อสร้างให้กับผู้ขออนุญาต โดยในแบบแปลนการขออนุญาตมิได้กำหนดวิธีการทำฐานรากไว้โดยเฉพาะ ซึ่งจะดำเนินการโดยการตอก ขุด อัด หรือดำเนินการอย่างใดตามที่ผู้ควบคุมงานของผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างเห็นสมควร ซึ่งหากการดำเนินการตอกเสาเข็มเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ผู้ร้องเรียนมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้

     ในกรณีนี้องค์การบริหารส่วนตำบลได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่และความเสียหายของบ้านผู้ร้องเรียนโดยได้เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้เนื่องจากคู่กรณีไม่มาตามกำหนดนัด

     ต่อมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำร้องเรียน ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกข้อตกลงเพื่อชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 30,000 บาท โดยผู้ร้องเรียนได้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว และไม่ติดใจที่จะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวอีกต่อไปจึงขอยุติเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ ขอขอบคุณสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนดังนั้น เรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนอย่างเหมาะสมแล้ว ตามมาตรา 37 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560