ผู้ตรวจฯ ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ติดตามการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ณ จังหวัดลำปาง นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมด้วยนายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่จังหวัดลำปางเพื่อประชุมติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายมานิตย์ มงคลชื่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง หัวหน้าส่วนราชการภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ของจังหวัดลำปาง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมอบรมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ทั้งสิ้น จำนวน 44 คน สามารถจบฝึกอบรม 29 คน และมีงานทำแล้ว 24 คน สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จังหวัดลำปางได้จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนวเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีการสำรวจ / จำแนกนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และนำนักเรียนกลุ่มเป้าหมายศึกษาดูงานและรับสมัครเข้ารับการฝึกอบรม ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีนักเรียนสมัครเข้าฝึกอบรม จำนวน 20 คน แบ่งตามหลักสูตรที่เปิดสอน คือ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ จำนวน 14 คน ช่างสีถยนต์ จำนวน 4 คน และช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม (ผ้า) จำนวน 2 คน ส่วนในภาคเอกชนหรือกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 8 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือเป็นสถานฝึกงานและมีตำแหน่งงานรองรับเด็กที่จบการฝึกอบรมมากมาย ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ที่ผ่านมาของจังหวัดลำปางนั้น ประสบความสำเร็จอย่างดีด้วยความทุ่มเทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือดูแลเด็กนักเรียน – ผู้ด้อยโอกาส ให้ได้เรียนในระดับที่สูงขึ้นและได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีฐานะเป็น “แรงานมีฝีมือ” และมีรายได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ซึ่งจากการจัดเก็บข้อมูลของจังหวัดลำปางพบว่า มีนักเรียนที่ไม่เรียนต่อชั้น ม.3 แล้วไม่เข้ารับการฝึกอบรมด้วย เนื่องจากบางส่วนไปเรียนต่อ กศน. บางส่วนเป็นเด็กพิเศษที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และบางส่วนไม่ประสงค์จะเรียนต่อหรือฝึกอาชีพเลย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอแนะให้คณะกรรมการช่วยกันระดมความคิดเห็นและพิจารณาเรื่องหลักสูตรอบรมที่น่สนใจและตอบโจทย์การทำงานในพื้นที่และยุคสมัย ในส่วนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ซึ่งดูแลงบประมาณสนับสนุนให้แก่ครอบครัวนักเรียนที่เข้าฝึกอบรมนั้นต้องชี้แจงให้ชัดเจนและทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ปกครองจะไม่ขาดรายได้ระหว่างที่นักเรียนเข้ารับการฝึกอบรมเพราะจะมีเงินสนับสนุนจาก พมจ. 6,000 – 8,000 บาท ประเด็นนี้สำคัญและมีผลต่อแรงจูงใจอย่างมาก สำหรับความพร้อมด้านงบประมาณ เช่น ค่าอาหารในวันเสาร์ – อาทิตย์ของนักเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งหารือและขอให้สำนักงบประมาณช่วยพิจารณโดยเร็ว ระหว่างนี้หากทางจังหวัดติดขัดประเด็นใดหรือกระบวนการใดที่ต้องอาศัยการทำงานในส่วนกลาง ขอให้รีบรายงานมาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อที่จะช่วยเร่งประสานงานให้เกิดความราบรื่นต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของจังหวัดลำปาง โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการชับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการจัดหางาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบูรณาการความร่วมมือ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการทำงาน สร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้และสังคมให้การยอมรับในศักยภาพการทำงาน สำหรับจังหวัดลำบางได้ดำเนินการดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน