กรณี การแก้ไขปัญหาดินเค็มในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการบ่อทราย

     ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับความเดือดร้อนจากการที่หน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการกับบ่อทรายแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองชลประทาน และขุดตักหน้าดินนอกเหนือเวลาที่ได้รับอนุญาต  มีการใช้รถขนส่งทราย เป็นเหตุให้ถนนเสียหายและเกิดฝุ่นละออง  รวมทั้งยังประกอบกิจการในเขตผังเมืองสีเขียว และการปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน

     ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริง พบว่า สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 จังหวัดปทุมธานี ได้มีการตรวจสอบดินบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการบ่อทราย ซึ่งผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินจากแปลงดินของประชาชนบริเวณใกล้เคียงบ่อทราย พบว่าเป็นดินเค็ม และมีผลกระทบต่อการปลูกพืชอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถประกอบเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตตามความเหมาะสม

     จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นเรื่องร้องเรียนใหม่และแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยประเด็นที่มีการพิจาณณา คือ กรณีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการบ่อทราย (บ่อรุกพญาแล) เป็นเหตุให้เกษตรกรไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

     การแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความว่า เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2561 การประกอบกิจการ  บ่อทรายมีการขุดดินและดูดทรายลึก ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางเป็นตะกอนน้ำทะเล จึงทำให้เกิดน้ำเปรี้ยวและเค็มมาก โดยผู้ประกอบการปล่อยน้ำจากการประกอบกิจการลงสู่คลองชลประทานแต่เกษตรกรไม่ทราบเรื่อง จึงยังคงสูบน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรเหมือนเดิม จนทำให้ต้นข้าวยืนต้นตาย เดิมก่อนเกิดเหตุเคยทำนาได้ไร่ละ 1,000 กิโลกรัม แต่ปี พ.ศ. 2561 กลับทำนาได้ลดลงเหลือไร่ละ 400 กิโลกรัม

     ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2564 เกิดเหตุอุทกภัย (น้ำท่วม) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำที่ท่วมช่วยชะล้างดินให้มีความเค็มลดลง และบ่อทรายดังกล่าวเป็นบ่อทรายแห่งเดียวในอำเภอบางบาลที่บ่อไม่แตก จึงทำให้ปัญหาดินเค็มของที่ดินที่ใกล้เคียงกับบ่อทรายแห่งนี้คลี่คลายลง แต่บ่อทรายบ่ออื่น ๆ ในพื้นที่อำเภอบางบาลมีน้ำท่วมขัง ซึ่งอยู่ห่างจากบ่อทรายดังกล่าวประมาณ 2 – 3 กิโลเมตร บ่อทรายจึงสูบน้ำลงสู่คลองชลประทาน โดยชาวนาได้ใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำที่สำนักงานพัฒนาที่ดินให้ไว้ตรวจสอบ พบว่าน้ำมีค่าความเค็มสูง

     ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า พื้นที่อำเภอบางบาลมีบ่อทรายขนาดใหญ่จำนวนมาก ต้นข้าวมีสภาพไม่สมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย

     จากการประชุมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พบว่า ตามสภาพข้อมูลทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี  พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุดดินในพื้นที่บริเวณที่ร้องเรียน เป็นชุดดินอยุธยา (Ay) โดยวัตถุต้นกำเนิดเป็นตะกอนลำน้ำผสมกับตะกอนภาคพื้นสมุทร พัฒนาในสภาพน้ำกร่อย หากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินลึกเกินกว่า 2 เมตร  มีโอกาสที่จะพบชั้นตะกอนลำน้ำผสมกับตะกอนภาคพื้นสมุทร ซึ่งสารประกอบกำมะถันและเกลือ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาดินเปรี้ยวและเค็มซึ่งกระทบต่อการใช้ที่ดินได้

     หลังจากมีการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุม ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

     1. แนวทางการฟื้นฟูดินเค็ม

           1.1  ให้กรมชลประทานโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาลดำเนินการ
ปล่อยน้ำดีเพื่อไล่น้ำเสียลงสู่คลองชลประทาน รวมทั้งคลองน้ำทิ้งที่เกษตรกรใช้น้ำในการทำนา ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 จังหวัดปทุมธานี เร่งหาแนวทางในการฟื้นฟูดินเพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสมต่อไป

           1.2 กรณีปัญหาที่เกิดจากน้ำขังในบ่อทราย ซึ่งพื้นที่อำเภอบางบาลเป็นทุ่งรับน้ำกิจการบ่อทรายจากเหตุอุทกภัยนั้น ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยารับผิดชอบในการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร โดยให้ผู้ประกอบการบ่อทรายดำเนินการบำบัดน้ำทิ้งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนที่จะปล่อยออกนอกพื้นที่ และให้มีคณะทำงาน โดยมีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการบ่อทรายเข้าร่วมตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกนอกพื้นที่ รวมทั้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเต้า จัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการบ่อทราย

     2. การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น

           ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประกอบกิจการขุด ตัก หรือดูดทราย เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลใช้เป็นแนวทางในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการขุด ตัก หรือดูดทรายอย่างเร่งด่วนต่อไป

          โดยในประเด็นนี้ที่ประชุมจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมติเห็นชอบให้นำข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเต้า ปี พ.ศ. 2542 ที่มีอยู่เดิมนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้เป็นปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนดโดยเคร่งครัดและประกาศใช้ต่อไป

     3. มาตรการกำกับดูแล

           ที่ประชุมมีมติให้อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหมั่นติดตาม ตรวจสอบการประกอบกิจการของบ่อทรายบ่อรุกพญาแล รวมทั้งบ่อทรายอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามแผนการตรวจสอบโรงงานประจำปี และตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาในอนาคต รวมทั้งให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยากำชับไปยังอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีผู้ประกอบกิจการขุด ตัก หรือดูดทราย ให้รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนและจัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการแก้ไข ตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็วต่อไป

           สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานผลการดำเนินการว่าได้มีการตรวจสอบการประกอบกิจการของบ่อทรายดังกล่าว และบ่อทรายอื่น ๆ ตามแผนงานตรวจกำกับสถานประกอบการเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดแผนการตรวจบ่อขุดตักดินหรือทราย หรือดูดทรายภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 34 โรง มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องเรียนจากเกษตรกรว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการขุดตักดินและดูดทราย รวมทั้งยังได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบกิจการขุด ตัก หรือดูดทราย ในพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมขุด ตัก ลอกหรือดูดทรายหรือดินในที่ดินกรรมสิทธิ์ สำหรับใช้ในการก่อสร้าง พ.ศ. 2554 ด้วยแล้ว

           ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้  ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้มีข้อเสนอแนะไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้กำชับคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขุด ตัก หรือดูดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการขุด ตัก หรือดูดทรายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกต่อไป