สผผ. ประชุมหารือร่วมรองแต้มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกข้อมูลประกอบการออกกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพินิจ ตันติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี และคณะ ประชุมหารือร่วมพลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกข้อมูลประกอบการออกกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567

จากที่ พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับนายเฉลิม เกียรติบรรจง ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเรื่องกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ที่ประกาศใช้แล้วนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งขอให้เสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือร่วมกัน โดยมีนายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์อังกูร ภัทรากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช) นายบวร บุญลพ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พลตำรวจตรี คีรีศักดิ์ ตันติวะชัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจะต้องพิจารณาหารือในประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเป็นมา หลักการและเหตุผล กระบวนการขั้นตอนในการออกกฎกระทรวง ข้อพิจารณาในการกำหนดปริมาณยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์แต่ละประเภท และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องทบทวนว่าหลังจากที่ได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้วนั้นมีอุปสรรค ผลกระทบ หรือความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนและสังคมโดยรวมหรือไม่อย่างไร

หลังการประชุมในวันนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะประมวลข้อสรุปและความเห็นจากการประชุม รวมทั้งเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่จะต้องชี้แจงหรือให้คำแนะนำมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ซึ่งถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากฎกระทรวงนี้มีประเด็นปัญหาขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ก็จะดำเนินการส่งเรื่องต่อศาลปกครอง โดยมีเงื่อนระยะการฟ้องคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รับเรื่องไว้ และในอีกประเด็นคือ การขอให้ปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับนี้เนื่องจากว่าทางผู้ร้องเรียนเห็นว่ามีข้อบกพร่อง โดยจากที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนั้นมีส่วนที่เห็นชอบตรงกันว่า ต้องเพิ่มรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ และต้องปรับปรุงเรื่องปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพต่อไป