สผผ. ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลการจัดการความปลอดภัยและผลกระทบด้านความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา)” ณ สำนักงานทางหลวงที่ 10 จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 เวลา 13.00 น. นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางสาวพรประภา เหม่งเวหา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ประชุมร่วมกับนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายปกรณ์ ศรีปานวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 10 นายธีรพันธ์ ภูมิรัตนประพิน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้นำท้องถิ่นและผู้แทนประชาชนในพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลการจัดการความปลอดภัยและผลกระทบด้านความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา)” ณ สำนักงานทางหลวงที่ 10 อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ การดำเนินการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างและความปลอดภัยทางถนน รายละเอียดปริมาณวัสดุอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยภายในโครงการ การอำนวยความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง การจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง การจัดทำรายงานความปลอดภัย และข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง โดยผู้นำท้องถิ่นได้สะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบประปา ซึ่งโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อท่อประปาในพื้นที่ และเสนอให้มีการปรับถนนทางเลี่ยงโครงการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขการจราจรติดขัดในพื้นที่ โดยทางโครงการได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปัจจุบันนั้น ทางโครงการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปบางส่วนแล้ว
จากนั้นเวลาประมาณ 15.30 น. รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) ทั้งนี้ การประชุมและแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเชิงระบบ “โครงการศึกษาการจัดการความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้างและบำรุงทาง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้างและบำรุงทาง รวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะสรุปรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากการแสวงหาข้อเท็จจริงในครั้งนี้เสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสม เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างหรือบำรุงทางต่อ