ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ พร้อมเปิดเวทีสัมมนานานาชาติขยายแนวร่วมขจัดความไม่เป็นธรรม

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2566) กรุงเทพฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย นำโดยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) พร้อมด้วยนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมการประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของ IOI ในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  พร้อมเปิดการสัมมนานานาชาติ ในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ย้ำจุดยืนร่วมกันของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียในการยืนหยัดในฐานะกลไกในการตรวจสอบอำนาจรัฐ อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม

การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานสมาชิกของ IOI จาก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวม 11 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมบทบาทและความสำคัญขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยได้ประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของ IOI  ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้จากแบบสำรวจเพื่อวัดความต้องการด้านการให้บริการของ IOI ในหมู่หน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความต้องการในด้านต่าง ๆ ของ IOI ในหมู่หน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย

และวันนี้ยังได้รับเกียรติจากนายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” จากนั้น นายคริส ฟิลด์ ประธานสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) และผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เครือรัฐออสเตรเลีย บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีย่อยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนของแต่ละประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น