กรณีปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง จังหวัดเชียงใหม่

กรณีปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง  จังหวัดเชียงใหม่

“ม่อนแจ่ม” หรืออีกชื่อคือ “ดอยม่อนแจ่ม” ดินแดนแห่งขุนเขาอันแวดล้อมด้วยทัศนียภาพที่งดงามตระการตา แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นสถานที่ขึ้นชื่อด้านแหล่งศึกษาธรรมชาติและจุดชมวิวในเชียงใหม่

ดอยม่อนแจ่มตั้งอยู่บนสันเขาบริเวณหมู่บ้านม้งหนองหอย เดิมบริเวณนี้ชาวบ้าน เรียกว่า กิ่วเสือ เป็นป่ารกร้าง ซึ่งในอดีตชาวบ้านในพื้นที่จะเข้ามาแผ้วถางและปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านหนองหอย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนการพื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้มีความอุดมสมบรูณ์จนในท้ายที่สุดโครงการหลวงเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตั้งเป็น “โครงการหลวงหนองหอย”

ปัจจุบันม่อนแจ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่หันมาประกอบธุรกิจโรงแรมหรือจัดสร้างสถานที่พัก ทั้งที่มีลักษณะอาคารถาวรหรือชั่วคราวเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ให้บริการที่พักอาศัย โดยคิดค่าบริการ อันเป็นลักษณะหรือวัตถุประสงค์ด้านธุรกิจ และมีการขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอันก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่สำหรับมนุษย์ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค และป่าไม้ยังมีประโยชน์ในการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม หากป่าไม้ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น

จากปัญหาที่กล่าวมาในเบื้องต้น จึงทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมกับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวขึ้น ในการนี้ ประชาชนผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจึงยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือการปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของกรมป่าไม้ และอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกับผู้ประกอบธุรกิจที่พักในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจที่พักในพื้นที่ดังกล่าวให้ระงับหรือยุติการประกอบธุรกิจ และออกคำสั่งให้รื้อถอนสถานประกอบการ ซึ่งอาจจะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 ทำให้ประชาชนผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้รับความเดือดร้อน

ด้วยเหตุแห่งปัญหาดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผลจากการประชุมหารือและตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ม่อนแจ่ม ดังนี้

1. ให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินให้ดำเนินการภายใต้หลักการพิสูจน์ว่า “ประชาชนที่อยู่ก่อนประกาศเขตป่าหรือไม่” ถ้าเป็นกรณีอยู่ก่อนประกาศเขตป่า พ.ศ. 2507 ก็ให้ดำเนินการโดยอาศัยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 สามารถเดินเรื่องออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินที่ทำกินต่อไปได้ หากกรณีมีการประกาศเขตป่าก่อนให้ใช้หลักการแก้ปัญหาตามสภาพข้อเท็จจริง โดยจะอาศัยการอ่านภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและแผนที่ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบร่องรอยการทำกินว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมาประกอบการพิจารณาสิทธิในแต่ละแปลง

2. ให้จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) และสร้างความรับรู้ความเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าวให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ในการบริหารจัดการพื้นที่และการอยู่ร่วมกันของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน คงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ดังเดิม และอาจให้ประชาชนรวมกลุ่มกันดำเนินการในรูปแบบสถาบันเกษตรกรเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน จึงอาศัยอำนาจตามความในตามมาตรา 22 (2) ประกอบมาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มีข้อเสนอแนะดังนี้

2.1 ให้จังหวัดเชียงใหม่จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่ม โดยร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลตำบลแม่แรมและองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง) ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาชุมชนและประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่มีคุณค่าโดยพึ่งพาซึ่งกันและกัน และคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ตลอดจนให้ชุมชนม่อนแจ่มใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนมาดำเนินการทั้งเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อส่งเสริมรายได้และระบบเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ม่อนแจ่มที่สอดรับกับแนวทางของโครงการหลวงหนองหอย และการจัดทำแผนแม่บทต้องหารือและได้รับความเห็นชอบจากมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อให้การดำเนินการจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงต่อไป ทั้งนี้ ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

2.2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นผู้ให้คำแนะนำให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม

2.3 การจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ควรกำหนดโซนนิ่ง (Zoning) ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่ชมทิวทัศน์ พื้นที่ขายของที่ระลึก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งอาจกำหนดจำนวนที่ตั้งและเนื้อที่ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและความต้องการของโครงการหลวงกับประชาชนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้พื้นที่ม่อนแจ่มเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญระดับภูมิภาคและระดับชาติต่อไป

2.4 ให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงหลักสำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1) มุ่งรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

2) มุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ

3) ขอให้คำนึงถึงรายได้ของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการดำเนินการตามแผนแม่บท

4) ขอให้คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการหลวง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เร่งรัดการดำเนินงานให้แผนแม่บทสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

5) ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่ม่อนแจ่มได้อย่างยั่งยืน