ความไม่เป็นธรรมจากการจับตัวผู้ต้องหาผิดคน

         ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนรายหนึ่ง ขอให้ดำเนินการตรวจสอบใน กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ร้องเรียนถูกจับกุมที่บ้านพัก เดือนเมษายน 2559 โดยกล่าวหาว่าผู้ร้องเรียนกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ตามที่ศาลจังหวัดอนุมัติออกหมายจับเมื่อปี 2548 ซึ่งผู้ร้องเรียนอ้างว่าตนมิใช่ผู้กระทำความผิดตามหมายจับดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าว หากมีมูลความจริง จะเป็นการกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้กล่าวหา แจ้งว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ผู้กล่าวหาและพยานบุคคลที่ให้ปากคำในคดียืนยันว่า ผู้ร้องเรียนเป็นผู้กระทำความผิด แต่ผู้กล่าวหาไม่รู้จักชื่อจริงของผู้กระทำความผิด เพียงแต่ได้ยินชาวบ้านและพระภิกษุในวัดเรียกชื่อ ผู้กล่าวหาจึงให้การกับพนักงานสอบสวนยืนยันว่า ผู้กระทำความผิดคือผู้ร้องเรียน 130 รายงานประจำปี 2559

         พนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานมีความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการและขอออกหมายจับ ซึ่งศาลจังหวัดได้อนุมัติออกหมายจับ ต่อมา เดือนเมษายน 2559 ผู้ร้องเรียนถูกจับกุมตัวบริเวณบ้านพักของผู้ร้องเรียน ในเวลานั้นผู้ร้องเรียนได้ยืนยันว่าตนมีใช่ผู้กระทำความผิด และไม่เคยเดินทางไปยังจังหวัดซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ปรากฏชื่อของผู้ร้องเรียนซ้ำกันกับบุคคลอื่นหลายราย การที่พนักงานสอบสวน (ในขณะนั้นได้ขอออกหมายจับจนเป็นเหตุ ให้ผู้ร้องเรียนต้องถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ยังคงดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยมิได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน จนกระทั่งผู้ร้องเรียนร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นเหตุให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมและปรากฏต่อมาว่าผู้กล่าวหากลับยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมิใช่ผู้กระทำความผิด แต่เป็นบุคคลอื่นที่มีชื่อและนามสกุลคล้ายคลึงกับผู้ร้องเรียน ซึ่งบุคคลดังกล่าวยังคงพักอาศัยอยู่ในจังหวัดที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งชี้ยืนยันสำเนาภาพถ่ายว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ทำร้ายร่างกายผู้กล่าวหาในวันเกิดเหตุจริง ไม่ใช่ผู้ร้องเรียนซึ่งถูกออกหมายจับและถูกจับกุมตัวดำเนินคดีจากพยานหลักฐานต่าง ๆ จึงน่าเชื่อได้ว่าผู้ร้องเรียนมีใช่ผู้กระทำผิดสถานีตำรวจภูธรจึงได้รวบรวมหลักฐานส่งให้สำนักงานอัยการจังหวัดพิจารณา ซึ่งพนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสอบสวนเพิ่มเติมให้ชัดเจน และพนักงานอัยการได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจนกระทั่งศาลจังหวัดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งศาลจังหวัดได้อนุมัติออกหมายจับผู้กระทำผิดที่แท้จริงซึ่งเป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนอย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจาก ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้กล่าวหาและพยานที่ให้ปากคำในสำนวนคดี รวมทั้งในชั้นของพนักงานสอบสวนที่อาจรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่รัดกุมเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายงานการสอบสวนในคดีดังกล่าวแจ้งว่ามีพยานบุคคล 3 ปาก แต่มีการสอบพยานบุคคลเพียง 2 ปาก และไม่มีหลักฐานอื่นใดพอฟังได้ว่าผู้ร้องเรียนซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนออกหมายจับโดยที่มิได้กระทำความผิด รวมทั้งใช้เวลาในการติดตามผู้ร้องเรียนตามหมายจับเกือบ 1 ปี จึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพและมนุษยชนของ ผู้ร้องเรียนโดยเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนต้องเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ขาดประโยชน์ทำมาหารายได้ระกว่างเนินคดี เสียเงินในการประกันตัว หากผู้ร้องเรียนไม่มีเงินก็จะต้องมีการกู้หนี้ยืมซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ร้องเรียนอย่างยิ่ง รวมทั้งใช้ระยะเวลาในการติดตาม ที่นานเกินไป หากผู้ร้องเรียนไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ อาจทำให้ผู้ร้องเรียนจำคุกในความผิดซึ่งตนมิได้เป็นผู้กระทำ

           ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับพนักงานสอบสวน กรณีการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ของพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้ผู้กล่าวหาจะแจ้งความร้องทุกข์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ในทางการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการของกฎหมาย นั้น พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมข้อเท็จจริง พยานเอกสารหลักฐาน พยานบุคคลหรือหลักฐานอื่นใดจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนว่าผู้ต้องหาในคดีเป็นผู้ที่กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีร้องเรียนดังกล่าวมีผู้ต้องหา ชื่อ – นามสกุล เดียวกันหลายราย จำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานสอบสวนจะต้องเพิ่มความเอาใจใส่ว่าบุคคลใดแน่ที่เป็นผู้ที่กระทำความผิดจริง โดยจะต้องมีกระบวนการสอบสวนที่รอบคอบ รัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดให้มีการชี้ตัวหรือชี้รูปผู้ต้องหาเพื่อให้แน่ใจว่าผู้กล่าวหาหรือพยานจำตัวผู้ต้องหาได้แน่นอนหรือไม่ และเมื่อทำการชี้ตัวหรือชี้รูปผู้ต้องหาแล้วให้จัดการลงรายงานประจำวันและให้ทำการบันทึกการชี้ตัวหรือชี้รูปนั้นไว้เป็นหลักฐานโดยให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการจัดให้ชี้ตัวและชี้รูปผู้ต้องหา และตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา บทที่ 2 ข้อ 6.11 การชี้ตัวผู้ต้องหา รวมทั้งได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานกองทุนยุติธรรมเพื่อให้พิจารณาดำเนินการเยียวยาและคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ร้องเรียน ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวต่อไปแล้ว