ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการรังวัดพื้นที่สร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง ทำให้พื้นที่ครอบครองที่ดินหล่นหาย และเสียสิทธิได้รับเงินค่าขนย้าย

ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการรังวัดพื้นที่สร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง ทำให้พื้นที่ครอบครองที่ดินหล่นหาย และเสียสิทธิได้รับเงินค่าขนย้าย

ในอดีตที่ผ่านมา การเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ในราชการของส่วนราชการต่างๆ ทำให้มีเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เพราะทางราชการยังไม่จ่ายค่าทดแทนให้หรือจ่ายให้ล่าช้า เป็นเหตุให้มีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอตลอดมา

การเวนคืนที่ดินกับการชลประทานมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันโดยตรง ในการที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินเป็นจำนวนมาก และใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำให้กับราษฎร  เรื่องร้องเรียนนี้ ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน (ไม่มีเอกสารสิทธิ) จำนวนเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2514 ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตามแผนสำรวจ ร.ว. 43 ก. แผ่นที่ 7 แปลงที่ 34 ที่ตั้ง ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื้อที่ 22-3-37 ไร่  ต่อมา มีการรังวัดแผนที่ใหม่ในปี พ.ศ. 2555 ทำให้ที่ดินที่ผู้ร้องเรียนครอบครองอยู่ ตกหล่นไปประมาณ 10 ไร่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนที่เพิ่มเติมให้ถูกต้องตรงกับแนวเขตในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน (ไม่มีเอกสารสิทธิ) ตามรายงานทรัพย์สินที่เป็นต้นไม้หรือไม้ผลที่มีอยู่จริง และพิจารณาเพิ่มสิทธิในการได้รับเงินค่าขนย้าย (ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ) ให้กับผู้ร้องเรียนตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ

ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของราษฎรที่อพยพมาจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและมี รายได้เสริม การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพ เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมาประมาณ 40 ปี โดยสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือ ลงวันที่ 29 กันยายน 2548 แจ้งให้กรมชลประทานทราบว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง ระบบส่งน้ำ และอาคารประกอบ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  มีพื้นที่ที่ถูกเขตก่อสร้างทั้งโครงการเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ 1,560 ไร่ และอุทยานแห่งชาติเนื้อที่ 1,765 ไร่ รวมทั้งหมด 3,325 ไร่ โดยถือว่าเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรมชลประทานจึงได้ขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรณีของผู้ร้องเรียน ผู้ร้องเรียนและสามีได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน (ไม่มีเอกสารสิทธิ) จำนวนเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 และได้ยื่นคำร้องขอรังวัดสำรวจแปลงที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิต่อเจ้าหน้าที่จัดหาที่ดินโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งไว้แล้ว  และได้ปรากฏรายชื่อผู้ร้องเรียนเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามผลการรังวัดทำแผนที่เมื่อปี พ.ศ. 2551 แปลงที่ 32 แผ่นที่ 7 เนื้อที่ 22-3-37 ไร่ แต่ต่อมามีการรังวัดแผนที่ใหม่ ในปี พ.ศ. 2555 – 2556 มีเนื้อที่หายไปจากเดิมประมาณ 10 ไร่ ในที่ดินบริเวณตำแหน่งเดียวกันนี้  โดยมีการรังวัดใหม่แบ่งแยกเป็นที่ดิน 3 แปลง คือ

1) แปลงที่ 21 ซึ่งเป็นที่ดินของบุตรเขยของผู้ร้องเรียน) เนื้อที่ 5-0-14 ไร่

2) แปลงที่ 23 เป็นที่ดินของผู้ร้องเรียน เนื้อที่ 3-3-92 ไร่

3) แปลงที่ 34 ผู้เป็นที่ดินของร้องเรียน) เนื้อที่ 0-2-27 ไร่ ซึ่งในที่ดินแปลงที่ 34 นี้ ผู้ร้องเรียนได้แจ้งต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินให้ทราบเบื้องต้นแล้วในวันที่เจ้าหน้าที่มาตรวจนับต้นไม้ ว่าจำนวนพื้นที่จริงที่ได้ทำการปลูกต้นไม้ไว้ ไม่ตรงกับจำนวนที่ช่างรังวัดได้ออกให้ตามแผนที่  โดยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้ทำการจับพิกัด GPS ตามแนวพื้นที่ปลูกต้นไม้จริงตามที่ได้ตกหล่นไปประมาณ 10 ไร่ ไว้เบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนได้รับเงินค่าทดแทนรื้อต้นไม้ หรือไม้ผลที่ถูกเขตชลประทานบริเวณพื้นที่หัวงาน(เดิม) และอ่างเก็บน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายบูรณ์  ฐาปนดุลย์) ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณี ร้องเรียนสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน รังวัดแผนที่ใหม่ในปี พ.ศ. 2555 – 2556 ทำให้เนื้อที่ที่ดินที่ผู้ร้องเรียนครอบครองทำประโยชน์หายไป จึงขอให้ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนที่เพิ่มเติมให้ถูกต้องตรงกับแนวเขตในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและพิจารณาเพิ่มสิทธิในการได้รับเงินค่าขนย้าย (ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ) ให้กับผู้ร้องเรียนตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยมีหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการสำรวจและขอเข้ารังวัดที่ดินของผู้ร้องเรียน และดำเนินการขึ้นรูปแปลงใหม่แล้วตามแผนที่สำรวจแปลงกรรมสิทธิ์ (ร.ว.43 ก.) แผนที่ 7 แปลงที่ 47 ผลการรังวัดได้เนื้อที่ 5 – 3 – 68 ไร่ โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการประชุมและมีมติให้นำข้อมูลของผู้ร้องเรียนเสนอคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานตามมติคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ได้พิจารณาทบทวนสิทธิของผู้ร้องเรียน และได้พิจารณาให้จัดทำประกาศรายชื่อผู้ร้องเรียน เป็นผู้มีสิทธิกรณีที่ดินตกค้างรังวัด ให้ได้รับค่าตอบแทนทรัพย์สินของผู้ร้องเรียนแล้ว โดยจะเร่งรัดจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับผู้ร้องเรียน

ต่อมา ผู้ร้องเรียนได้มีหนังสือขอบคุณมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน(สผผ.) และได้แจ้งว่าผู้ร้องเรียนได้รับการจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว

กระทรวง ทบวงกรมใด ที่ได้เวนคืนที่ดินกับประชาชนแล้ว เพื่อระงับความเดือดร้อนของเจ้าของที่ดิน และให้ได้ประโยชน์แก่ราชการอย่างยิ่งจากที่ดินที่ราชการได้เวนคืนมา สมควรที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ทำการเวนคืนที่ดินจะพึงถือปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยเคร่งครัด ในการเวนคืนที่ดินเพื่อให้ราษฎร์เดือดร้อนน้อยที่สุด และต้องเตรียมงบประมาณเกี่ยวกับการนั้นให้เรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืน แล้วให้ปรึกษาทำความตกลงกับราษฎรเจ้าของที่ดินที่จะต้องใช้ตามโครงการนั้นเสียก่อน  ถ้าตกลงซื้อขายกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติเวนคืน หากตกลงซื้อขายกันไม่ได้และทางราชการจำเป็นต้องใช้ที่ดินนั้น จึงออกพระราชบัญญัติเวนคืน