กรณีการคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือ เรื่อง การคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ระยะที่ 3 โดยแจ้งแนวทางดำเนินการในการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรเข้ารับราชการในตำแหน่ง เภสัชกรปฏิบัติการ พยาบาลปฏิบัติการ นักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติการ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ นักจิตวิทยาปฏิบัติการ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน และเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ให้รายงานผลการดำเนินการคัดเลือกฯ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และแจ้งวันรายงานตัว ในวันที่  25 พฤศจิกายน 2563 เพื่อดำเนินการสั่งบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการต่อไป

ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่า

1)  ผู้ร้องเรียนได้ปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2563 แต่กลับไม่ปรากฏรายชื่อในระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ

2)  ผู้ร้องเรียนได้กล่าวอ้างว่าปฏิบัติงานในตำแหน่งนอกเหนือ 24 สายงานที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ก่อนสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งยังมีภารกิจเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แต่กลับไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า เนื่องจากปัญหาข้อมูลเข้าระบบ ถูกคีย์ชื่อเป็นสองชื่อตำแหน่ง โดยพนักงานที่เข้ามาทำงานก่อน จะคีย์เข้าระบบในตำแหน่ง “เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน” ส่วนพนักงานที่เข้าภายหลังจะถูกคีย์เข้าระบบในตำแหน่ง “ เจ้าพนักงานสาธารสุข (เวชกิจฉุกเฉิน) ” สิ่งที่เกิดปัญหาก็คือ เมื่อมีการบรรจุข้าราชการ อัตราที่ประกาศให้มีการบรรจุ คือตำแหน่ง “เจ้าพนักงานสาธารณสุข (เวชกิจฉุกเฉิน) ทำให้พนักงานที่เข้ามาทำงานก่อนในตำแหน่ง “เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน” ไม่ได้รับการบรรจุรับราชการเป็นกรณีพิเศษ โดยบางรายแจ้งว่า ได้เข้ามาปฏิบัติงานมาเป็นเวลา 3 – 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุ และตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด 19 อีกหลายตำแหน่งก็ไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเช่นกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้จัดประชุมพิจารณาหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเขตสุขภาพที่ 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท และผู้ร้องเรียนและคณะ และมติที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. วินิจฉัยและแจ้งข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคน

ภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อรายงานสภาพปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ  โดยไม่เพียงแค่ผู้ร้องเรียนจำนวน 32 ราย ที่ร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น แต่ควรแก้ไขเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศด้วย เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2. เสนอแนะไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกรณีบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรง

ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งอยู่ใน 24 สายงานที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และมีการจ้างงานอย่างถูกต้อง  ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2563 แต่ไม่มีรายชื่อในระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) หรือในระบบบริหารงานบุคคลที่เรียกชื่ออย่างอื่น ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2563 ขอให้ใช้อัตราว่างที่ยังคงเหลืออยู่จากการบรรจุไม่ครบตามจำนวน 38,105 อัตรา ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการบรรจุผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกในลักษณะเดียวกับบุคลากรที่ได้รับการบรรจุแล้ว

3. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข

(HROPS) หรือในระบบบริหารงานบุคคลที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้เป็นปัจจุบันเสมอ รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีการกำกับดูแล และเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายค่าจ้างของบุคลากรทุกประเภทการจ้าง เพื่อเป็นการควบคุมให้มีการบันทึกข้อมูลการจ้างในระบบเสมอ และเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างเป็นระบบต่อไป

4. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของสายงาน

ข้าราชการใน 24 สายงาน โดยเพิ่มตำแหน่งในสายงานให้สอดคล้องกับตำแหน่งพนักงานจ้างหรือลูกจ้างที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้จ้างไว้ และพนักงานและลูกจ้างดังกล่าวได้ปฏิบัติงานจริงในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อขอทำ  ความตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในการกำหนดตำแหน่งเพิ่มให้เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพเพื่อรองรับสายงานตามที่คุณวุฒิและกฎหมายให้อำนาจไว้

5. ให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนโดยขอให้พิจารณาอนุมัติ

ตำแหน่งโดยใช้ตำแหน่งที่เป็นการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอตามข้อ 4

6. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งสภาพปัญหาและอุปสรรค และความคืบหน้าให้

หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทราบเป็นระยะ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและลดปัญหาการร้องเรียนในลักษณะเดียวกันอีก

ต่อมา สำนักงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาอันมิอาจดำเนินการบรรจุข้าราชการ
ในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติ และขออนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการภาพรวมอัตราข้าราชการตั้งใหม่
ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ว่างจากการสูญเสีย รวมทั้งผู้ที่ได้รับการจ้างงานอยู่จริงแต่ไม่ปรากฏข้อมูลในระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นของส่วนราชการ จนสามารถแก้ไขปัญหาทำให้ผู้ร้องเรียน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการจ้างงานอยู่จริงแต่ไม่ปรากฏข้อมูลในระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นของส่วนราชการทั่วประเทศ ใน 24 สายงานที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติมแล้ว

อย่างไรก็ดี เพื่อมิให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวอีก ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1.  ขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงระบบบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) หรือในระบบบริหารงานบุคคลที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้เป็นปัจจุบันเสมอ รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีการกำกับดูแลและเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายค่าจ้างของบุคลากรทุกประเภทการจ้าง เพื่อเป็นการควบคุมให้มีการบันทึกข้อมูลการจ้างในระบบเสมอ และเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างเป็นระบบต่อไป

2.  ขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของ
สายงานข้าราชการใน 24 สายงาน โดยเพิ่มตำแหน่งในสายงานให้สอดคล้องกับตำแหน่งพนักงานจ้างหรือลูกจ้างที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้จ้างไว้ และรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ
พลเรือน เพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในการกำหนดตำแหน่งเพิ่ม
ให้เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพเพื่อรองรับสายงานตามที่คุณวุฒิและกฎหมายให้อำนาจไว้