กรณี จังหวัดน่านไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา และจ่ายเงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ให้กับผู้ครอบครองที่ดินเดิมในพื้นที่บ้านสว้า

กรณี จังหวัดน่านไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา และจ่ายเงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ให้กับผู้ครอบครองที่ดินเดิมในพื้นที่บ้านสว้า ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งถูกนำที่ดินที่ครอบครองอยู่ก่อนไปก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากบ้านห้วยขาบ ตำบลบ่อเกลือเหนือ จังหวัดน่าน

ผู้ร้องเรียนอ้างว่า ในปี 2561 ได้เกิดเหตุภัยพิบัติที่บ้านห้วยขาบ ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ต่อมาจังหวัดน่านได้มีคำสั่งอพยพชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน จำนวน 60 ครัวเรือน ประชากร 253 คน จากตำบลบ่อเกลือเหนือ ให้ลงมาพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราวที่ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้มีการวางแผนพัฒนาบริเวณที่อยู่อาศัยและสร้างบ้านพักถาวรในที่ดินแปลงใหม่ โดยที่ดินที่มีการก่อสร้างบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านห้วยขาบ  คือที่ดินที่มีการครอบครองในลักษณะของใบจองและเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนในบ้านสว้า ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่มีผู้ทำกินกันมาหลายชั่วคน ซึ่งปรากฏว่าผู้ครอบครองอยู่เดิมไม่ได้ยินยอมมอบสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปก่อสร้างบ้านพักถาวร แต่องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญาได้แจ้งข้อมูลต่อที่ทำการปกครองอำเภอบ่อเกลือว่า ไม่มีผู้ครอบครองในพื้นที่

ในขณะเดียวกันผู้ประสบภัยจากบ้านห้วยขาบในขณะนั้น ก็ไม่ได้ต้องการที่จะย้ายมาตั้งบ้านเรือนในตำบลดงพญา เพราะทราบว่าพื้นที่โครงการทับซ้อนกับที่ทำกินของผู้ที่อยู่เดิม จึงมีการให้ข้อมูลกับองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญาเพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหา

ต่อมา ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ร่วมกันร้องขอความเป็นธรรมกับอำเภอบ่อเกลือโดยนายอำเภอบ่อเกลือได้จัดการประชุมหารือร่วมกันทุกฝ่าย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา นายอำเภอบ่อเกลือ และผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ร่วมกันตอบรับว่า จะหาพื้นที่ทำกินชดเชยให้ เมื่อเวลาล่วงเลยกลับไม่มีการประสานเจ้าของพื้นที่ทำกินทั้ง 4 ราย จำนวน 39 ไร่ แต่กลับให้ผู้รับเหมาเข้าไปปรับพื้นที่ทำกินอันเป็นสิทธิของผู้ครอบครองเดิม โดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ครอบครองเดิมได้ดำเนินการคัดค้านมาโดยตลอด นอกจากให้ผู้รับเหมาเข้าไปรื้อถอนแล้วยังตัดต้นสักจากแปลงเพาะปลูกอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งผู้ครอบครองเดิมปลูกไว้และขนย้ายออกจากพื้นที่  จึงได้มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบ่อเกลือ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการสร้างที่พักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยนั้น ผู้ครอบครองเดิมได้พยายามยื่นคำร้องคัดค้านและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีการเจรจาหลายรอบ โดยในการประชุมมีการรับว่าจะทำตามสัญญาแต่มีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทุกครั้ง จนในท้ายที่สุดได้มีการร้องเรียนไปยังบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้ามาช่วยสร้างที่พักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา ท้ายที่สุดในปีที่ 3 ของโครงการ ผู้บริหารของบริษัทเอกชนดังกล่าว ได้ลงพื้นที่และพิจารณาเห็นชอบให้ค่าชดเชยสำหรับการซื้อพื้นที่ทำกินใหม่ให้กับผู้ครอบครองที่ดินเดิม โดยกำหนดการจ่ายค่าชดเชยคือวันที่โครงการส่งมอบบ้านให้กับผู้ประสบภัยและนัดผู้ครอบครองที่ดินเดิมให้มารับค่าชดเชยในวันเดียวกัน แต่ในวันดังกล่าวก็ไม่มีการกล่าวถึงผู้ครอบครองที่ดินเดิม  เมื่อติดตามไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญาและอำเภอบ่อเกลือ ก็มีการผัดผ่อนเรื่อยมา จึงได้ประสานกับบริษัทเอกชนดังกล่าว ทำให้ทราบว่าได้มีการโอนเงินดังกล่าวให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
ที่รับผิดชอบโครงการเรียบร้อยแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินเดิมแต่อย่างใด

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และได้มีหนังสือให้บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหลักฐานมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณา รวมทั้งมีหนังสือให้จังหวัดน่าน ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหลักฐานมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน

บริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยพิบัติดินถล่มบ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับส่วนราชการในการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติดินถล่ม จึงได้ดำเนินการก่อสร้างที่พักอาศัยและได้ส่งมอบที่พักอาศัยให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต่อมา จังหวัดน่านได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ ขอความอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือราษฎรบ้านห้วยขาบเพิ่มเติม โดยขอให้บริษัทฯ ให้การสนับสนุนเงินจำนวน 3,150,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อนำไปบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย จึงให้ความช่วยเหลือเป็นการสนับสนุนเงินจำนวนดังกล่าว โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย สาขาน่าน ชื่อบัญชี “ให้ความช่วยเหลือราษฎรบ้านห้วยขาบจากเหตุการณ์ดินถล่มอำเภอบ่อเกลือ” เพื่อให้จังหวัดน่านนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งให้บริษัททราบ

จังหวัดน่านชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

ที่ดินที่มีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากบ้านห้วยขาบ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้าน สว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นที่ดินที่มีหลักฐานการครอบครองเป็นใบจอง (น.ส.2) เนื้อที่รวมทั้งหมด 39 ไร่ โดยมีผู้ครอบครองที่ดินเดิมซึ่งมีผู้ร้องเรียนอยู่ด้วย จำนวน 4 ราย ยินดีสละที่ดินของตนเองเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

จากการก่อสร้างบ้านพักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยพิบัติเป็นการดำเนินการ  สืบเนื่องมาจากกรณีได้มีประกาศจังหวัดน่าน เรื่อง ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย (น้ำป่าไหลหลาก) ในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งกำหนดให้พื้นที่บ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินและจำเป็นต้องให้ควาช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันเกิดภัย ซึ่งเป็นไปตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยจังหวัดน่านได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ขับเคลื่อนการสร้างบ้านถาวรให้แก่ราษฎรบ้านห้วยขาบ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหาที่ดินสร้างบ้านถาวร จัดหาทุนในการสร้างบ้านถาวร จัดทำแผนผังและออกแบบบ้าน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบ้านห้วยขาบ

จังหวัดน่านได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานไปยังบริษัทฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างบ้าน จำนวน 75 หลัง หลังละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,500,000 บาท (ยี่สิบสองล้านห้าแสนบาทถ้วน)

การให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ครอบครองที่ดินเดิมก่อนมีการใช้พื้นที่ในการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ ทั้ง 4 ราย นั้น จังหวัดน่านได้ขอให้บริษัทฯ สนับสนุนงบประมาณจำนวน 3,150,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั้ง 4 ราย ซึ่งอำเภอบ่อเกลือโดยศูนย์บริหารจัดการหมู่บ้านห้วยขาบ (ใหม่) อำเภอบ่อเกลือ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุม เห็นชอบให้มอบเงินแก่ราษฎรทั้ง 4 ราย รวมเป็นเงิน 3,150,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และนายอำเภอบ่อเกลือ ได้มอบเงินให้แก่ราษฎรทั้ง 4 ราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว จึงได้ยุติเรื่องร้องเรียน

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ติดตามแนวทางของจังหวัดน่าน ในการจัดการและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยบ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ) ได้ลงพื้นที่สำรวจภูมิประเทศของหมู่บ้านลัวะห้วยขาบ ที่จังหวัดน่าน หลังจากการย้ายชุมชนที่ตั้ง และได้ก่อสร้างและจัดตั้งชุมชนแห่งใหม่  พร้อมทั้งได้ประชุมหารือกับจังหวัดน่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การจัดการและให้ความช่วยเหลือประชาชนบ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ตวจการแผ่นดินได้เล็งเห็นว่า สิ่งที่สำคัญนอกจากความช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน(Community Based Disaster Risk Management หรือCBDRM) อันจะทำให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย