กรณี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดแห่งหนึ่ง ตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตนของ ผู้ร้องเรียนโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหาย

ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39มีหน้าที่นำส่งเงินสมทบด้วยตนเอง โดยขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดแห่งหนึ่ง มาเป็นระยะเวลา 14 ปี ซึ่งบุตรสาว ผู้ร้องเรียนเป็นผู้นำส่งเงินสมทบให้มาตลอดปี 2563 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)  ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บุตรสาวของผู้ร้องเรียน ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับครอบครัว หลังจากกลับมาจากประเทสญี่ปุ่นได้กลับถูกกักตัว ทำให้ไม่สามารถออกจากบ้านได้ จึงขาดการส่งเงินสมทบในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ผู้ร้องเรียนได้เข้ารับการผ่าตัดเปลือกตาล่างและถุงไขมันใต้ตา และบุตรสาวเป็นผู้ดูแล จึงทำให้เกิดปัญหาในการนำส่งเงินสมทบอีกครั้ง กระทั่งเดือนตุลาคม 2563 ได้นำส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้ จึงได้ไปสอบถามที่สำนักงานประกันสังคม และทราบว่าถูกตัดสิทธิจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39

การประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต ในกลุ่มของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนใหญ่นำระบบประกันสังคมไปใช้ ในการให้หลักประกันชีวิตแก่ประชาชนของตนตั้งแต่เกิดจนตาย

พระราชบัญญัติประกันคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม แบ่งออกได้เป็น 3 มาตราด้วยกันดังนี้
มาตรา 33 ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป”

มาตรา 39 ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือน นับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 46 วรรคสอง ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย

ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้ง ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งซึ่งไม่ส่งเงินสมทบ หรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษของเดือน ถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง

มาตรา 40 บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติก็ได้โดยให้แสดงความจำนงต่อสำนักงาน หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามมาตรา 54 ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 41 ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนนั้น

(1) ตาย

(2) ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีก

(3) ลาออกจากความเป็นผู้ประกันตนโดยการแสดงความจำนงต่อสำนักงาน

(4) ไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน

(5) ภายในระยะเวลาสิบสองเดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบเก้าเดือน

การสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตาม (4) สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ และการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตาม (5) สิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบเก้าเดือนให้นำความในมาตรา 38 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้ประกันตนที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตาม (3) (4) และ (5) โดยอนุโลม”

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีหนังสือไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง พบว่าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ได้อนุมัติให้ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 และพบว่าผู้ร้องเรียนขาดส่งเงินสมทบงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เดือนพฤษภาคม 2563 เดือนมิถุนายน 2563 และงวดเดือนกันยายน 2563 เป็นการส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน จึงถือว่าเป็นการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในวันที่ 30 กันยายน 2563

กระทรวงแรงงานจึงได้ออกประกาศ เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนและการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 พ.ศ. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนและเป็นการเยียวยาผู้ประกันตนในการขาดส่งเงินสบทบในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการจึงประสานแจ้งไปยังผู้ร้องเรียน และ ผู้ร้องเรียนได้นำส่งเงินสมทบย้อนหลังในงวดเดือนกุมภาพันธ์  เดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน และงวดเดือนกันยายน 2563 – เมษายน 2564 ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแก้ไขสถานะให้ผู้ร้องเรียนกลับมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมดังเดิม

อย่างไรก็ตาม  ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้สำนักประกันสังคมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 นำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบ การนำส่งเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน