ปัญหาฝุ่นละอองจากโรงงานน้ำตาล จังหวัดกาญจนบุรี

 

มลพิษทางอากาศ คือ การเกิดฝุ่นละออง โมเลกุลชีวภาพ หรือวัตถุอันตรายชนิดอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุของโรค การเสียชีวิตของมนุษย์ และทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มลพิษทางอากาศไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่ที่แออัด แต่ยังเกิดในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีโรงงานผลิตน้ำตาล และได้รับผลกระทบในเรื่องปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย

ผู้ร้องเรียนได้แจ้งข้อเท็จจริงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า บ้านของผู้ร้องเรียนตั้งอยู่อาศัยใกล้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะมีระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และมีฝุ่นละอองจากโรงงานผลิตน้ำตาลทรายฟุ้งกระจายเข้ามาภายในบริเวณบ้านของผู้ร้องเรียนทำให้ได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับผู้ร้องเรียน มีบุตรที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย โดยที่ผ่านมาได้เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาผู้ร้องเรียนจึงได้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต) ได้รับคำร้องทุกข์และได้พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง โดยจัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินประกอบด้วยกรมควบคุมมลพิษ  สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง เทศบาลตำบลวังศาลา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว สรุปผลจากการประชุมหารือได้ ดังนี้

  1. ให้จังหวัดกาญจนบุรีแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง และเทศบาลตำบล วังศาลา ร่วมกันกำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ร้องเรียนและประชาชนในพื้นที่
  2. ให้จังหวัดกาญจนบุรีรายงานมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ ภายในระยะเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
  3. ให้เทศบาลตำบลท่าศาลาประชาสัมพันธ์มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบ

ต่อมา กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้รายงานผลการดำเนินการตามมติที่ประชุมว่า กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี และเทศบาลตำบลวังศาลา ตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดังกล่าว โดยมีผลการตรวจสอบ สรุปได้ดังนี้

  1. การตรวจสอบปัญหาฝุ่นละอองโรงงานผลิตน้ำตาลทรายพบว่า มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองบริเวณลานจอดรถบรรทุกอ้อย และถนนภายในพื้นที่โรงงาน  มีเศษชานอ้อยตกหล่นและมีฝุ่นละอองสะสมบนพื้นถนน เมื่อรถบรรทุกวิ่งเข้า – ออกภายในโรงงานทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย แม้จะมีการใช้รถฉีดพรมน้ำ แต่ก็ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง บริเวณอาคารหีบอ้อย มีฝุ่นกากอ้อยจากการหีบสกัดน้ำอ้อยฟุ้งกระจายสะสม ตัวอาคารปิดไม่มิดชิดทำให้ฝุ่นละอองจากการหีบอ้อยฟุ้งกระจายออกมาภายนอกได้ และอาคารเก็บกากชานอ้อยเป็นอาคารเปิดโล่งด้านหน้าด้านหลังปิดไม่มิดชิด และมีการกองกากชานอ้อยภายนอกอาคาร ซึ่งมีสแลนกั้นด้านติดชุมชน มีการติดตั้งหัวสเปรย์น้ำด้านบนเสาพบการสเปรย์น้ำ ไม่ครอบคลุมพื้นที่การกองกากชานอ้อยทั้งหมด หากมีปริมาณมากและสูง เมื่อมีลมกรรโชกแรงอาจฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอกได้
  2. การตรวจวัดค่าความทึบแสงจากปล่องปล่อยทิ้งอากาศเสียจากสถานประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานอ้างอิงตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดค่าปริมาณเขม่าควันที่เจือปนในอากาศที่ระบายออกจากปล่องของหม้อไอน้ำของโรงงาน พ.ศ. 2549
  3. การตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ระบายออกจากปล่องปล่อยทิ้งอากาศเสียของโรงงานผลิตน้ำตาลทรายไม่เป็นไปตามหลักวิชาการตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถนำผลการตรวจวัดมาเทียบกับค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้
  4. การตรวจวัดฝุ่นละอองในบรรยากาศบริเวณบ้านประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงาน มีค่าเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป แต่จากสภาพทางกายภาพพบว่า ขณะตรวจสอบมีฝุ่นละออง และเขม่าควัน สีขาวและสีดำฟุ้งกระจายตกหล่นสะสมบริเวณบ้านประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงาน
  5. มีการนำกากขี้เถ้าหม้อกรองมากองไว้บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก ให้มาดำเนินการตรวจวัดอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน พบว่า มีค่าสารเจือปน ในอากาศไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2549

จากการรายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า การดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีจึงมีคำสั่งให้โรงงานย้ายกากขี้เถ้าหม้อกรองไปเก็บไว้ในโรงงาน หรือส่งกำจัดโดยผู้ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งดำเนินคดีในข้อหานำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมา โรงงานผลิตน้ำตาลทรายได้ปฏิบัติตามคำสั่งและมาชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งผลการตรวจวัดพบว่า มีค่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2549 รวมทั้งกรณีผลการตรวจวัดค่าความทึบแสงจากปล่องปล่อยทิ้งอากาศเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน พร้อมทั้งดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยเมื่อโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดำเนินการเปิดหีบอ้อยใน 15 วันแรกของปีการผลิต 2564/2565 ให้อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีจะดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบายออกจากปล่องโรงงาน พร้อมทั้งรายงานผล ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ และหากโรงงานตรวจไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีจะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ปิดโรงงานต่อไป  พร้อมทั้งให้เทศบาลวังศาลาบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบต่อไป