ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขปัญหาให้นายทะเบียนอำเภอเพิ่มชื่อผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นพระภิกษุ เข้าไปในทะเบียนบ้านของวัดเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ

          สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องเรียนจากพระภิกษุสงฆ์ท่านหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ ท่านนี้ได้บวชจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเป็นพระภิกษุสงฆ์สูงอายุ

          พระภิกษุสงฆ์เป็นคนจังหวัดเพชรบุรีและเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อจบการศึกษาจึงได้ บวชจำพรรษามาโดยตลอด  แต่เนื่องจากเป็นบุคคลที่ตกหล่นยังไม่ได้แจ้งขอเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

          เมื่อปี พ.ศ. 2560 พระภิกษุสงฆ์ได้แจ้งความประสงค์ขอเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านเข้าในวัดที่ได้จำพรรษาต่อนายทะเบียนอำเภอบางกรวย  แต่ปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

          ปัจจุบันพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนมีโรคที่จะต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยจากโรงพยาบาลของรัฐ  จึงจำเป็นต้องเพิ่มชื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าไปในทะเบียนบ้านของวัดเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ

          เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับทราบถึงปัญหาความทุกข์ร้อนของผู้ร้องเรียน จึงมอบหมายให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งประสานไปยังอำเภอบางกรวยเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้ร้องเรียน โดยได้ประสานทางโทรศัพท์ไปยังอำเภอบางกรวย เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว

          จากการแสวงหาข้อเท็จจริงทางอำเภอบางกรวยได้ชี้แจงว่า ขณะนี้อำเภอบางกรวย  ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน โดยได้ดำเนินการตรวจสอบการตรวจพันธุกรรมบุคคล (DNA) ของญาติเพื่อยืนยันตัวตน การสอบข้อเท็จจริง   กับพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขณะนี้เหลือขั้นตอนอีกไม่มาก อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบและป้องกันความผิดพลาดในเรื่องต่าง ๆ จะต้องมีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมจากเจ้าอาวาสของวัดดังกล่าว รวมถึงผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่และสอบถามไปยังญาติที่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องเรียนเพื่อยืนยันตัวตนประกอบ        การพิจารณา

          ต่อมา อำเภอบางกรวยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงหลังจากได้รับหนังสือของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกฐานเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน ภายใน 30 วัน โดยอำเภอบางกรวยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า  พระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนมีอายุ 46 ปี ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้าน ณ สำนักทะเบียนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แต่ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอท่ายางมีความเห็นว่า พระภิกษุสงฆ์ ผู้ร้องเรียนอาศัยอยู่ที่วัดตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  ด้วยเหตุนี้ทางนายทะเบียนอำเภอท่ายางจึงได้แนะนำให้พระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนมายื่นขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านต่อสำนักทะเบียนอำเภอบางกรวยแทน

          ต่อมา เมื่อนายทะเบียนบางกรวยได้รับคำร้องจากพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียน ที่ได้ขอเพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านของวัดที่พระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนจำพรรษาอยู่ ในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในกรณีดังกล่าวที่มีการอ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านโดยไม่มีเอกสารมาแสดงตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 97 ได้กำหนดให้ต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารพยานหลักฐานและสอบสวนพยานบุคคล ซึ่งได้ตรวจสอบพยานบุคคลแล้ว จำนวน 3 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

          ส่วนประเด็นพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนที่มีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาอาการป่วย และขอใช้สิทธิในโรงพยาบาลของรัฐ นั้น เนื่องจากนายทะเบียนอำเภอบางกรวยอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารเพื่อเพิ่มชื่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนเข้าไปในทะเบียนบ้านของวัด  ในการนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้โทรศัพท์ประสานงานไปยังโรงพบายาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อขอทราบแนวปฏิบัติ ในกรณีที่พระภิกษุมีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษา แต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนจะสามารถเข้ารับการรักษาได้หรือไม่

          โรงพยาบาลสงฆ์ได้แจ้งแนวปฏิบัติว่า ในกรณีพระภิกษุจะเข้ารับการรักษาแต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถนำใบสุทธิ (บัตรประจำตัวของพระภิกษุ) และหนังสือรับรองจากเจ้าอาวาสวัด ที่พระภิกษุสังกัดอยู่ มาใช้เป็นเอกสารเพื่อเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลได้               

          ต่อมา อำเภอบางกรวยได้มีชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นายทะเบียนอำเภอบางกรวยได้อนุมัติการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านให้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนเข้าในทะเบียนบ้านของวัดที่พระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนจำพรรษาอยู่  พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น เรื่องร้องเรียนดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนอย่างเหมาะสมแล้ว

 หมายเหตุ

ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 97 บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้

                               (1) สอบสวนเจ้าบ้าน ผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคล
ที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณา

                               (2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่

                               (3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

                               (4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า “คำร้องที่… ลงวันที่… หรือ หนังสือ… ลงวันที่…” แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

                               (5) กำหนดเลขบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 22)

                               (6) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (5)