ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชา น.461 หลักวิชาชีพนักกฎหมาย ได้จัดทำโครงงานกลุ่มในหัวข้อ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ผู้ถูกกล่าวหา” โดยศึกษาระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มีความเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลง  ในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้องก็ไม่ได้นำเอารายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระความเดือดร้อนแก่ประชาชนมากเกินสมควรแก่เหตุ ดังนั้น จึงร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้นแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเรียนนี้ เป็นกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (1) พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ซึ่งเป็นหลักการ  ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดเกี่ยวกับหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร หน้าที่ของศูนย์พิสูจน์หลักฐานและพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลต่าง ๆ และศพ กำหนดวิธีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ขออนุญาต ผู้ขอสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และรายการประวัติหรือบัญชีประวัติ

จากการประชุมและหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 25 (1) และมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560  พิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวข้องกับทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม และในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน   ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย แต่ระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติอาชญากร ไว้โดยชัดแจ้ง เพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้องออกจากฐานข้อมูลประวัติอาชญากรไว้เท่านั้น ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซี่งปัจจุบันกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีฐานข้อมูลอยู่เพียงหนึ่งชุด และใช้ฐานข้อมูลนี้ในการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของบุคคลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน และการดำเนินการอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม  รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติของผู้ขออนุญาต และผู้ขอสมัครเข้ารับราชการ หรือเข้าทำงานใน หน่วยงานต่าง ๆ ด้วย  โดยฐานข้อมูลดังกล่าวนี้จะรวบรวมข้อมูลแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและเอกสาร ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวนไว้ ต่อมาเมื่อคดีถึงที่สุดและได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุดแล้ว กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ ที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะดำเนินการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือตามขั้นตอนต่อไป

การที่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติอาชญากรไว้      โดยชัดแจ้งนี้ ทำให้ข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ถูกรวมไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน โดยฐานข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้    ทั้งในการตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ขออนุญาต ผู้ขอสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ และถูกใช้   ในงานสืบสวนสอบสวนเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งการใช้งานทั้งสองลักษณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์  ที่แตกต่างกัน อีกทั้งการที่ระเบียบดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา ยังมีส่วนสนับสนุนให้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ไม่อาจเกิดผล   บังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีและมีชื่อ อยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น อาจไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากบุคคลในสังคม จนส่งผลกระทบต่อโอกาสในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคมได้ โดยเฉพาะในกรณี ที่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

นอกจากนี้ การที่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดหลักการให้รวบรวมข้อมูลของผู้ต้องหา    และจำเลยไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรก่อน แล้วจึงคัดแยกข้อมูลออกในภายหลังเมื่อได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุด ก็ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเช่นกัน โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้แทนกองทะเบียนประวัติอาชญากรว่า     การรายงานผลคดีถึงที่สุดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรของหัวหน้าสถานีตำรวจบางแห่งยังมีความล่าช้าเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ และมีบางกรณีที่ไม่มีการรายงานผลคดีถึงที่สุด ทำให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่ทราบผลคดีดังกล่าว รวมถึงไม่สามารถคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรได้ จึงเกิดปัญหาในกรณีของบุคคลที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว แต่ยังมีข้อมูลติดค้างอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร จนเป็นเหตุ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในบางคดีต้องเดินทางมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเอง เพื่อความรวดเร็วในการเร่งรัดให้รายงานผลคดีถึงที่สุด และจะได้ดำเนินการคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรต่อไป

ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้ จึงเป็นกรณีที่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินคดี เนื่องจากอาจทำให้บุคคลดังกล่าวเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และเป็นภาระแก่ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้อง แต่ยังมีข้อมูลติดค้างอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร จึงเห็นควรเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (1)

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคำวินิจฉัยเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีหลักการแก้ไขปรับปรุงดังต่อไปนี้

(1) ควรกำหนดให้มีการแยกทะเบียนประวัติที่ใช้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยออกเป็น ๒ ทะเบียน ได้แก่ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา และทะเบียนประวัติอาชญากร
(2) การเปิดเผยประวัติอาชญากรหรือข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า ได้กระทำความผิด ควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(3) ควรกำหนดข้อห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
(4) ควรกำหนดระยะเวลาในการรายงานผลคดีถึงที่สุดของสถานีตำรวจแต่ละแห่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ให้ชัดเจน โดยเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่ได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบดังกล่าวภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจดำเนินการแก้ไขได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 60 วัน พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงแจ้งผลการวินิจฉัยในเรื่องนี้ต่อสำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ฉบับดังกล่าว ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานกิจการยุติธรรมในการกำหนดให้มีระเบียบรองรับเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลผลคดี  ถึงที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา หรือเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอัยการ  ซึ่งคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี รายงานผลคดีถึงที่สุดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรโดยตรงทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งพิจารณาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การคัดแยกข้อมูลจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหามาไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป