กรณีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ข้อ 2.18 (6) มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27

     ผู้ร้องเรียนเป็นคนต่างด้าว และพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดลพบุรี  ผู้ร้องเรียนได้กล่าวอ้างว่า ตนได้ยื่นคำร้องต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดลพบุรี เพื่อขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว (VISA) โดยขอยกเว้นหลักเกณฑ์การมีเงินฝากในธนาคารในประเทศไทย 400,000 บาท ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ข้อ 2.18 (6) แต่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดลพบุรีปฏิเสธไม่พิจารณาอนุญาต และแจ้งให้ผู้ร้องเรียนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557และคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ 138 /2557 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2557

     ​​ผู้ร้องเรียนเห็นว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรที่กำหนดว่า “กรณีสมรสกับหญิงไทย ฝ่ายสามีซึ่งเป็นคนต่างด้าวต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรือเงินฝากในธนาคารในประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง 2 เดือน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายในรอบปี” แต่สำหรับกรณีฝ่ายหญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและสมรสกับชายไทยนั้น มิได้กำหนดให้ฝ่ายหญิงต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรืองินฝากในธนาคารในประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ด้วย เมื่อหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามข้อ 2 ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ข้อ 2.18 (6) มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณี ฝ่ายชาย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและสมรสกับหญิงไทยเท่านั้น กรณีจึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันขัดต่อหลักความเสมอภาค

     ดังนั้น คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้องเรียนจึงยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27

     ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นมีว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งคำว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้วและประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติเท่านั้น

     เมื่อประเด็นตามคำร้องเรียนนี้เป็นการร้องเรียนว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีจึงไม่มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ตามมาตรา 23 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

     ​ส่วนมาตรา 23 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

      พิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว   เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปแก่คนต่างด้าวที่ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ อันมีลักษณะเป็นกฎตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ประกอบกับ  ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ

     กล่าวคือ ผู้ร้องเรียนเป็นคนต่างด้าวและไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร เพราะเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2.18 (6) ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ซึ่งหากผู้ร้องเรียนประสงค์ยื่นคำขออยู่ต่อในราชอาณาจักรในกรณีเป็นครอบครัวซึ่งสมรสกับหญิงไทย  ผู้ร้องเรียนต้องแนบหนังสือรับรองการ  มีรายได้หรือหลักฐานการมีเงินฝากในธนาคารในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว กรณีจึงเป็นการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 23 (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้

​     สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชี้แจงข้อมูลสรุปว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มีเจตนารมณ์เพื่อความมั่นคงของประเทศและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการที่คนต่างด้าวจะเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จึงต้องผ่านการคัดกรองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณา
กรณีคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทย นั้น กำหนดให้เฉพาะคนต่างด้าวฝ่ายชายที่สมรสกับหญิงไทยต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรือเงินฝาก
ในธนาคารในประเทศคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง 2 เดือน ไม่น้อยกว่า 4000,000 บาทเพื่อไว้ใช้จ่ายในรอบปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนต่างด้าวอุปการะเลี้ยงดูภรรยาและบุตร

     ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศไทย และเป็นการคุ้มครองให้แก่สตรีรวมถึงเด็ก หลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนต่างด้าวฝ่ายชายในการที่จะเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวโดยไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด เป็นเพียงการคัดกรองเพื่อให้การเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

​     ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30มิถุนายน 2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ข้อ 2.18 (6) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

     มาตรา 4 เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่วางหลักการรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลมาตรา 5 เป็นบทบัญญัติที่วางหลักการเกี่ยวกับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ส่วนมาตรา 27 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และเป็นบทบัญญัติรับรองหลักความเสมอภาค และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล โดยวางหลักว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด     เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ แม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 27 ดังกล่าวข้างต้น จะบัญญัติไว้ในหมวด 3สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะเป็นชาวต่างชาติ แต่สิทธิและเสรีภาพบางประการก็มีลักษณะเป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

     ​สำหรับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าและออกนอกราชอาณาจักร การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือการเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยมีเจตนารมณ์ประการหนึ่งเพื่อความมั่นคงของประเทศและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 35 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ก็ได้  เมื่อพิจารณาคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557  ข้อ 2.18 (6) จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าว
กรณีเป็นคู่สมรสของผู้มีสัญชาติไทยนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างชายต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทย และหญิงต่างด้าวที่สมรสกับชายไทย

     กล่าวคือ กรณีชายซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทยต้องมีหลักฐานการมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรือมีหนังสือรับรองการมีเงินฝากจากธนาคารในประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง 2 เดือน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ส่วนกรณีหญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สมรสกับชายไทยนั้น คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ มิได้กำหนดเงื่อนไขของการมีรายได้หรือการมีเงินฝากในธนาคารไว้แต่อย่างใด

     กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ พิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ซึ่งบัญญัติรับรองหลักความเสมอภาค หมายถึง การปฏิบัติต่อสิ่งที่เหมือนกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่แตกต่างกันในสาระสำคัญให้แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมีการปฏิบัติต่อสิ่งที่เหมือนกันในสาระสำคัญที่แตกต่างกัน หรือมีการปฏิบัติต่อสิ่งที่แตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกัน โดยปราศจากเหตุผลอันอาจรับฟังได้ ย่อมถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค การที่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ข้อ 2.18 (6) กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวไว้สำหรับกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทย เฉพาะชายซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทย โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์การมีรายได้หรือการมีเงินฝากในธนาคารของคนต่างด้าว เห็นได้ว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เพศชายและเพศหญิงมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพและมีโอกาสในการหารายได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยที่เพศหญิงมิได้มีข้อจำกัดอันเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพหรือการหารายได้แตกต่างจากเพศชาย เพศชายหรือเพศหญิงจึงสามารถมีรายได้ที่เท่าเทียมกันได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งการมีรายได้ของเพศชายหรือเพศหญิงจะเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่นั้นคงต้องพิจารณาถึงความสามารถในการบริหารจัดการลักษณะการดำรงชีพของแต่ละครอบครัว และสภาพทางเศรษฐกิจประกอบด้วย

     อีกทั้งการอ้างเงื่อนไขการมีรายได้หรือการมีเงินฝากในธนาคารของคนต่างด้าวนั้นไม่อาจใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาประวัติการกระทำความผิดหรือประวัติอาชญากรรมคนต่างด้าวเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่คำสั่งสำนักงานตรวจแห่งชาติฯ กำหนดเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวสำหรับกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทยเกี่ยวกับการมีรายได้หรือเงินฝากในธนาคารในประเทศไทยไว้เฉพาะชายซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทย จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้แตกต่างกันออกไป โดยปราศจากเหตุผลอันอาจรับฟังได้และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

​    อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา และสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรไว้ ซึ่งมาตรา 1461 กำหนดให้สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และมาตรา 1564 กำหนดให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ แม้ว่าวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของความสัมพันธ์ครอบครัวในอดีตจะมีแนวความคิดว่าฝ่ายสามีมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว ย่อมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูภริยาและบุตรก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มิได้มีเจตนารมณ์กำหนดให้การอุปการะเลี้ยงดูภริยาและบุตรเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสภาพ ฐานะ ความสามารถในการหารายได้และความเป็นอยู่ระหว่างสามีภริยาตามสมควร

     อีกทั้งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวสำหรับกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ข้อ 2.19 ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นคนต่างด้าวต้องมีรายได้หรือเงินฝากในธนาคารในประเทศไทย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทยของเพศชายและเพศหญิงให้แตกต่างกันเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็กหรือสตรีแต่อย่างใด

     ​นอกจากนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวไว้สำหรับกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทย เฉพาะชายซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทย โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์การมีรายได้หรือการมีเงินฝากในธนาคารของคนต่างด้าว นั้น ย่อมมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนต่างด้าวในการขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิทางสังคมที่ได้รับการรับรองทั่วโลก กล่าวคือ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการสร้างครอบครัวการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา การดูแลภริยาและบุตร รวมทั้งกระทบต่อสิทธิของเด็กในการได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาอย่างใกล้ชิด อันอาจนำมาซึ่งปัญหาในสถาบันครอบครัว การหย่าร้าง และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือบิดากับบุตร แม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะมีผลเป็นการรับรองคุ้มครองเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยก็ตามแต่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติใดย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4

​     ดังนั้น การที่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวข้อ 2.18 (6) กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว สำหรับกรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทยว่า ฝ่ายสามีซึ่งเป็นคนต่างด้าวและสมรสกับหญิงไทยต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรือเงินฝากในธนาคารในประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง ๒ เดือน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายในรอบปี ซึ่งมีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีฝ่ายชายซึ่งเป็นคนต่างด้าวและสมรสกับหญิงไทย นั้น จึงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันขัดต่อหลักความเสมอภาคกรณีจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4มาตรา 5 และมาตรา 27

     ผู้ตรวจการแผ่นดินตึงได้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองตามมาตรา 23 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ การพิจารณาปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ จะเป็นประโยชน์แก่คนต่างด้าวที่ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

​     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นดังกล่าวข้างต้นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้ร้องเรียนทราบ และให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง