ผู้ตรวจการแผ่นดิน หารือ 7 จังหวัดริมโขง เร่งติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กรณีผลกระทบริมฝั่งโขงจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเลย เร่งหารือร่วมกับนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ณ ศาลากลางจังหวัดเลย และทางระบบ Zoom Cloud Meetings เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีศึกษาปัญหาและผลกระทบของโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว ซึ่งกั้นแม่น้ำโขง หวั่นเกิดผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่จังหวัดเลยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ สุขศรี ศาสตราจารย์ ทวนทอง จุฑาเกตุ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนริมน้ำโขง 7 จังหวัด แล้วพบว่าพิกัดที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนสานะคามของรัฐบาลลาวห่างจากชายแดนไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไม่ถึง 2 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก และจากกรณีศึกษาจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ประชาชนริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบทั้งด้านประมง ระบบนิเวศ และด้านการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ซึ่งยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยานั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหากมีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้ง 2 ประเทศ ควรเร่งหารือเพื่อป้องกันผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจริมฝั่งโขงให้รอบด้าน  ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและให้ข้อเสนอแนะ 10 ประเด็น ไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยยึดหลักต้องสมดุลทั้ง 2 ด้าน คือ ประโยชน์ด้านกระแสไฟฟ้าควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาและวางแนวทางบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ การพิจารณาความสมดุลของความต้องการไฟฟ้าและผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อไฟฟ้าที่มีต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทยและ สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน เพื่อชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนในแม่น้ำโขง และพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนให้มากขึ้น, การศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพร้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อจัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต , ควรผลักดันให้มีระบบการแจ้งเตือนทั้งกรณีปกติและกรณีฉุกเฉินโดยกำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ,ขอให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน, มีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกันเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำโขง, เตรียมแนวทางชดเชยเยียวยาประชาชน ภาคเศรษฐกิจ และทุกภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ตลอดจนแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศในแม่น้ำโขง

ในวันนี้ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อประชุมร่วมกับนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนอีก 6 จังหวัดริมแม่น้ำโขงโขง ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่งผลที่ประชุม พบว่ามีความคืบหน้าในหลายประเด็น โดย สทนช. ได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน เช่น การศึกษาผลกระทบและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำสายประธาน และจัดทำฐานข้อมูลผลกระทบข้ามแดนเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดดัชนีพื้นที่เสี่ยง รวมถึงดำเนินการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพื่อนำผลมาพัฒนามาตรการความพร้อมรับผลกระทบในด้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครบถ้วนต่อไป
โดยช่วงท้ายการประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับเกี่ยวกับการติดตามการชดเชยเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และขอให้ สทนช.ศึกษาผลกระทบเพื่อกำหนดมาตรการการชดเชยเยียวยากรณีของเขื่อนสานะคามต่อไป