การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร – พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย

  1. 1. สภาพของปัญหา

ด้วยความปรากฏต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายทรงศัก สายเชื้อ) ว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด (ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด) เขื่อนยโสธร – พนมไพร (ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร) และเขื่อนธาตุน้อย (ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี) จำนวนมาก             ส่งผลต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำชีตอนล่างของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร – พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ประสบปัญหาพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนน้ำท่วมนานผิดปกติ พืชผลทางการเกษตรเสียหายต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในครัวเรือนและชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ          ได้กำหนดว่าการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติและเมื่อมีการพิจารณาอนุญาตแล้ว รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

 

  1. 2. ข้อเท็จจริง

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่าประวัติและความเป็นมา เดิมใช้ชื่อเรียกว่าฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร – พนมไพร และฝายธาตุน้อย โดยฝายยโสธร – พนมไพร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2538 ฝายธาตุน้อยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ. 2539 ฝายร้อยเอ็ดก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ (เดิม) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ซึ่งเดิมไม่มีกฎหมายหรือระเบียบให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) สำหรับการก่อสร้างฝายทั้งสามแห่งนั้น มีลักษณะทางกายภาพ ที่เป็นเขื่อน เนื่องจากมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ อาคารประกอบ คันกั้นน้ำ ท่อลอด ทางระบาย

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการจึงได้มีการถ่ายโอนให้กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และได้ส่งมอบเขื่อนและภารกิจให้กรมชลประทาน เมื่อปี พ.ศ. 2546

ภาคประชาชนได้สะท้อนปัญหาต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ เนื่องจากลำน้ำชีมีความคดเคี้ยว การสร้างเขื่อนทำให้เกิดการกั้นลำน้ำเก่า ระบบนิเวศของลำน้ำชีจึงมีความเปลี่ยนแปลงไป และปัญหาจากโครงสร้างของเขื่อน เช่น พนังกั้นน้ำและประตูระบายน้ำบางพื้นที่ไม่สัมพันธ์กับทิศทางของน้ำ การบริหารจัดการน้ำยังไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลของน้ำ เช่น บางปีไม่มีฝนตกแต่กลับมีน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรรม ส่งผลทำให้พื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนได้รับผลกระทบด้านอาชีพ ประเพณีวัฒนธรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปเพราะถูกน้ำท่วม

ภาคประชาชนจึงได้เริ่มยื่นข้อเรียกไปยังรัฐบาลนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 โดยยื่นข้อเรียกร้องขอให้ฟื้นฟูระบบนิเวศ และขอให้เยียวยาความเสียหายในอัตราเหมาจ่าย 7,000 บาท/ไร่/ปี และค่าสูญเสียโอกาสในอัตราไร่ละ 3,000 บาท/ไร่/ปี และขอให้เยียวยาผลกระทบ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2547 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  แต่ยังไม่สามารถที่เยียวยา        ผู้ได้รับผลกระทบได้ เนื่องจากยังขาดข้อมูลสำคัญในการพิสูจน์สิทธิผู้ได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อน (Post EIA) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562 หลักการเบื้องต้นใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการหาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในปี พ.ศ.    2543 – 2547 โดยศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยชดเชยความเสียหาย ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยประชาชนมีส่วนร่วม

เมื่อปี พ.ศ. 2562 นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 388/2562 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร -พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ได้ประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยมอบหมายให้อนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำข้อมูลผู้ยื่น    คำร้องรอบแรกมาซ้อนทับกับแผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม โดยขอให้มีคณะทำงานตรวจสอบร่วมกัน และขอข้อมูลจากกรมที่ดิน เพื่อพิสูจน์ทราบการชดเชยให้อนุกรรมการระดับจังหวัดรับรองผล และรายงานเสนอให้กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเห็นชอบเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และผู้ได้รับผลกระทบเพื่อกำหนดแนวทางการเร่งรัดและมาตรการเยียวยาความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบจากก่อสร้างเขื่อน ปัญหาอุปสรรค ข้อพิจารณาทางกฎหมาย ของประชาชนที่ได้มีการรับรองรายชื่อและยังไม่ได้รับรองรายชื่อ ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการของแต่ละจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานของแต่ละจังหวัด โดยเชิญผู้ศึกษา Post EIA สำนักงานที่ดินจังหวัดที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทาน ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปแล้ว นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้หารือถึงแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมชลประทานจะได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อศึกษาปัญหาดังกล่าว โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

 

  1. 3. แนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วพบว่าอุปสรรคในการเยียวยาความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เนื่องจากปัจจุบันได้นำข้อมูลความเสียหายของ   ผู้ได้รับผลกระทบมาอ่านแปลกับข้อมูลแปลงที่ดินของกรมที่ดินยังอยู่ในระหว่างดำเนินกา ซึ่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจังหวัดยโสธร ได้ขอข้อมูลไปยังกรมที่ดินและมอบหมายให้คณะทำงาน นำข้อมูลจากกรมที่ดินมาประกอบการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินแล้วเสร็จได้ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 เพื่อที่คณะอนุกรรมการจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะอนุกรรมการจังหวัดยโสธรจะได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อ         ผู้ได้รับผลกระทบ จากนั้นกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องพิจารณารับรองรายชื่อเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามนัยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 388/2562 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ซึ่งยังมีกระบวนการขั้นตอนที่อาจก่อให้เกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า จึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. 1. ในกรณีที่คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา จังหวัดยโสธร ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ ได้ทันภายในเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2565 ขอให้กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการประชุมและพิจารณา

รับรองรายชื่อ หากพิจารณารับรองรายชื่อแล้ว ขอให้เร่งรัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอของบประมาณภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ขอให้กรมชลประทานเสนอขอเบิกจ่ายจากงบประมาณเหลือจ่ายของกรมชลประทาน

  1. ในกรณีกรมชลประทานไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณจากเงินจ่ายของกรมชลประทาน ได้นั้น ในทางปฏิบัติการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของกรมชลประทานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณฯ และกรอบระยะเวลาการจัดส่งคำขอล่วงหน้า 2  ปีงบประมาณ ซึ่งย่อมส่งผลต่อความล่าช้าในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย จึงขอให้กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบกลางในการเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ

ด้านการบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

         ในการดำเนินโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร- พนมไพร และโครงการฝาย ธาตุน้อยในช่วงปี พ.ศ. 2543 – 2547 ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และประสบปัญหาน้ำท่วมมากขึ้นจากเดิมใน 2 ลักษณะ คือเกิดน้ำท่วมเนื่องจากปริมาณาน้ำในลำน้ำสูงทำให้เอ่อล้นตลิ่งและเกิดน้ำท่วมเนื่องจากปริมาณาน้ำฝนตกมากในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ ส่งผลให้ระบบนิเวศและสภาพพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น พันธุ์ปลาท้องถิ่นลดลงหรือสูญหายไป พื้นที่ป่าสาธารณะป่าหัวไร่ปลายนา ป่าบุ่งท่ามได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

         แนวทางการแก้ไขปัญหา

           เพื่อให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในด้านบริหารจัดทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นไปโดยรวดเร็ว ตามที่รัฐธรรมญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 กำหนดไว้ จึงขอให้กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาและแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างอาคารและองค์ประกอบเขื่อน การแก้ปัญหาผลกระทบจากคันกั้นน้ำและโครงการสูบน้ำขนาดใหญ่ และกำหนดมาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยกำหนดให้มีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

————————————————-