มหากาพย์ที่ดินเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

ถ้าจะเอ่ยถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมลำดับต้น ๆ แห่งหนึ่งของประเทศไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก “เขาค้อ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่เขาค้อเป็นป่าไม้ถาวรและได้รับประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2529

ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ได้มาขอใช้ประโยชน์บางส่วน ซึ่งประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิครอบครองที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นหลายกลุ่ม หลายจำพวก ภายหลังเมื่อกองทัพภาคที่ 3 ส่งคืนพื้นที่ขอใช้ประโยชน์กรมป่าไม้ จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ

จากภาพข่าวตามสื่อต่าง ๆ ที่ได้รายงาน จะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการครอบครองและปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการดำเนินคดีกับชาวบ้าน

ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่เป็นจำนวนมาก  ซึ่งจากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ประชาชนบางส่วนใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต แต่ประชาชนบางส่วนใช้ประโยชน์ในที่ดินเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต หรือมีการบุกรุกเข้ามาใช้ประโยชน์ ในที่ดิน เช่น การสร้างโรงแรม รีสอร์ท เป็นต้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วต่อไป และได้มีส่วนสำคัญในการเข้าไปขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายทรงศัก สายเชื้อ)ได้ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และประชุมพิจารณาแนวการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร่วมกับ อปท. อำเภอ จังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 กรมธนารักษ์ กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และประชุมกับหน่วยงานราชการส่วนกลางด้วย โดยมีการติดตามผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ (คทช. จังหวัดเพชรบูรณ์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน สำรวจ ตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินจัดทำข้อมูลที่ดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกิดความโปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 พิจารณา เรื่อง ขอความเห็นชอบ ในหลักการให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กองทัพภาคที่ 3 ส่งคืนกรมป่าไม้ท้องที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

  1. ให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการตามกฎหมายที่ราชพัสดุและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับพื้นที่คงสภาพป่าไม้
  2. ให้กรมป่าไม้เร่งรัดดำเนินการเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งการสำรวจเพื่อจัดทำ

แนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน

ในการนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการให้เกิด ความเรียบร้อยในพื้นที่ ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ การกำหนดอัตราค่าเช่าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การกำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินให้ชัดเจน ทั้งในกลุ่มราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินตามนโยบายของรัฐ และราษฎรกลุ่มที่อาศัยและทำกินอยู่ใหม่ เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการร้องเรียนเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ ตลอดจนเร่งดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ และเหตุผลความจำเป็นของการดำเนินการให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งประชาชนทั่วไปทราบอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทั่วถึง อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 และพิจารณาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนครอบคลุมในหลายเรื่อง ดังนี้

  1. กรณีประชาชนในพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้รับบริการสาธารณูปโภคที่เหมาะสม เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ให้อำเภอเขาค้อ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาค้อ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแม่นา ประสานสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุม
    เชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการอนุญาตให้จัดทำสิ่งสาธารณูปโภคตามระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการของกรมป่าไม้ แนวทางการจัดทำคำขอ และเอกสารหลักฐานประกอบโครงการต่อไป
  2. การบรรเทาความเดือดร้อน กรณีผู้ที่เคยเป็นราษฎรอาสาสมัครหรือทายาทที่ถูกจับกุมดำเนินคดี

–  กรณี เรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม การที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ไม่มีผลกระทบต่อรูปคดี เนื่องจากเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของศาลที่จะพิจารณา

–  กรณี ประชาชนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ขอความร่วมมืองดเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนกว่าจะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จ

  1. สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐในระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อจัดทำมาตรการ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุ ปัจจัย สถานการณ์บุกรุกที่ดินของรัฐในปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม