กรณีหน่วยงานของรัฐกำหนดเขตที่ดินและค่าตอบแทนการเวนคืนที่ดินไม่เป็นธรรม และมีการออกแบบ เกาะกลางถนนที่กว้าง ทำให้ต้องเวนคืนที่ดินมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน

ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสระแก้วได้รับความเดือดร้อนจากการที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ก. ผังเมืองรวมเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และได้กำหนดเขตที่ดิน พร้อมทั้งมีการออกแบบเกาะกลางถนนกว้างถึง 4.20 เมตร โดยไม่ยึดหลักจากกึ่งกลางถนน แต่กำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดินเข้ามายังฝั่งที่ดินของชาวบ้าน ทำให้ถนนแคบลงและต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านมากขึ้น  อีกทั้งกำหนดค่าตอบแทนการเวนคืนไม่เป็นธรรม จึงได้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริง และช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาและดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งมีประเด็นพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

  1. กรณีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดิน โดยไม่ยึดหลักจากกึ่งกลางถนน ทำให้การกำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดินเข้ามายังฝั่งที่ดินของชาวบ้านนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่และร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมติที่ประชุมได้ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจและออกแบบแนวเขตเวนคืนบริเวณที่มีการร้องเรียนใหม่ โดยให้มีผู้แทนในพื้นที่เข้าร่วมในขั้นตอนการสำรวจออกแบบครั้งใหม่นี้ด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการปรับแนวเขตเวนคืนบริเวณที่มีการร้องเรียน โดยยึดจากกึ่งกลางถนนเดิม    ข้างละ 15 เมตร ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับแนวเขตเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น 3 ราย และลดลง 7 ราย ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินทุกรายได้ยินยอมตกลงให้มีการปรับแนวเขตเวนคืนตามที่รังวัดใหม่นี้แล้ว และจะนำแบบการแก้ไขแนวเขตเวนคืนใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนที่แนบท้ายร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสระแก้ว และตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ฉบับใหม่ด้วย
  2. กรณีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีเกาะกลางถนนที่มีความกว้างถึง 4.20 เมตร ทำให้ถนนแคบลง และต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านมากขึ้นนั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า การกำหนดเกาะกลางถนนซึ่งมีความกว้าง 4.20 เมตรนั้น เป็นไปตามมาตรฐานซึ่งมีค่าต่ำสุด โดยมีจุดกลับรถช่วงระยะที่เหมาะสมทุกระยะ 1 กิโลเมตร และเมื่อรถวิ่งเข้าสู่จุดกลับรถจะลดเกาะกลางถนนเพื่อเพิ่มช่องรอเลี้ยว 1 ช่องจราจร และช่องเลี้ยวกว้าง 3 เมตร เพื่อให้รถเข้าหลบและป้องกันรถชนท้าย ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าการที่ไม่มีเกาะกลางถนน นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่เกาะกลางถนนสำหรับใช้ติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ติดเสาป้ายจราจรและป้ายเตือนต่าง ๆ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวเป็นการออกแบบตามหลักวิศวกรรมที่เน้นความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นสำคัญ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย
  3. กรณีการกำหนดเงินค่าทดแทนเวนคืนที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียนนั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินทดแทน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสระแก้ว และตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2561 โดยได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินเพื่อขอข้อมูลราคาประเมินทุนทรัพย์ที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเป็นการแบ่งโซนตามสภาพพื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง การใช้ประโยชน์ของที่ดิน และข้อมูลราคาประเมินอันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 แล้ว

ทั้งนี้ หากผู้ร้องเรียนเห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนการเวนคืนและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่เป็นที่พอใจให้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่หรือรับเงินที่วางไว้ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี

เนื่องจากผู้ร้องเรียนยังไม่ได้ดำเนินการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จึงยังไม่เกิดสิทธิที่จะสามารถเข้ายื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน  ในท้องที่ตำบลสระแก้ว และตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2651 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและเงินค่าทดแทนฯ คณะใหม่ เพื่อพิจารณากำหนดราคาเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และอื่นๆ โดยต้องดำเนินการตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะได้ราคาค่าเวนคืนที่เป็นปัจจุบัน ทำให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ผู้ร้องเรียนต่อไป  ทั้งนี้  การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสระแก้ว และตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ฉบับใหม่ อยู่ในขั้นตอนการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณกลางปี พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวอีก ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำชับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและเงินค่าทดแทน คณะใหม่ ให้พิจารณาดำเนินการกำหนดราคาเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และอื่น ๆ ตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป