กรณีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) สามารถคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

เมื่อปี 2555 รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” (Emergency Medical Claim Online: EMCO) โดยมุ่งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในการดำเนินงานเกิดปัญหามากมาย เนื่องจากขาดกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ขาดอำนาจบังคับให้เป็นไปตามนโยบาย รวมไปถึงการขาดระบบประเมินและยืนยันสิทธิ แต่รัฐบาลยังเห็นประโยชน์ของนโยบายดังกล่าว จึงพยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรค โดยได้ประกาศเป็นนโยบายใหม่ คือ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือ สิทธิ UCEP

นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency  Patients : UCEP) เป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเข้ารักษาจนพ้นภาวะวิกฤต หรืออาการที่แพทย์ประเมินแล้วเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต ให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงกลาโหม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งความเห็นของกระทรวงการคลัง ในประเด็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

(1) เห็นชอบให้สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และให้สถานพยาบาลภาครัฐรับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหลังเวลา 72 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

(2) ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานของรัฐ และกองทุนต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบของหน่วยงาน/กองทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้รองรับการจ่ายเงินคืนแก่โรงพยาบาลเอกชน
ตามหลักเกณฑ์ได้โดยเร็วต่อไป ตามความเห็นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ได้มีการแถลงรายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2562 ต่อวุฒิสภา ทั้งนี้ นายแพทย์เจตน์  ศิรธรานนท์  สมาชิกวุฒิสภา ได้มีการนำเสนอปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตขึ้น โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในกรณีดังนี้

(1) กรณีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธสิทธิการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

(2) กรณีโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง

(3) กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบประมาณดำเนินงานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่เพียงพอ

ในการนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เห็นชอบให้หยิบยกปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตขึ้นพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงโดยไม่มีการร้องเรียน รวมทั้งมีดำริให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งคณะทำงานศึกษากรณีการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉิน (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากการแสวงหาข้อเท็จจริงในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย หนังสือให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึก การหารือเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของหน่วยงาน และการประชุมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ถือเป็นนโยบายของภาครัฐที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นนโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน เมื่อยามที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตจะสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ได้ให้ความคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะเบิกค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่โรงพยาบาลเอกชนโดยส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือเยียวยาและรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มที่ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ เพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่โรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ และเป็นหน่วยงานที่คิดและพัฒนาระบบการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre-Authorization : PA) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่บริหารจัดการสวัสดิการรักษาพยาบาลในกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ต่างดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่และอำนาจอย่างเต็มที่เพื่อบริหารจัดการ ศึกษา และรวบรวมสภาพปัญหา รวมทั้งหามาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองและได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้อย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นที่มีการหยิบยกในการแถลงรายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2562 ต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 พิจารณาได้ดังนี้

  1. ประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธสิทธิการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงพยาบาลเอกชนมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ โดยรายได้หลักของโรงพยาบาลเอกชนมาจากผู้ใช้บริการที่ประสงค์รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและความสะดวกสบายโดยรัฐไม่ได้ให้งบประมาณสนับสนุน โรงพยาบาลเอกชนจึงมีการกำหนดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” แม้ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากกองทุนตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือในการรับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้พบข้อร้องเรียนว่าโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอยู่บ้าง แต่หากพิจารณาถึงสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยยังมีความไม่เข้าใจต่ออาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ UCEP เมื่อโรงพยาบาลเอกชนทำการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินผ่านระบบ PA แล้วพบว่า ผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนแจ้งให้ทราบว่า ผู้ป่วยควรไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธการรักษาพยาบาล หรือหากรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด อาจทำให้ผู้ป่วยหรือญาติมีความเข้าใจว่าโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้เช่นเดียวกัน กรณีดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาดังกล่าว โดยพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งมาตรการบังคับและหากลไกเพื่อจูงใจให้โรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือในการรับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่สถานพยาบาลไม่ทำการรักษา หรือปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 4) ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายใน 2 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด และหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ โดยมีการปรับอัตราค่ายาและการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกให้โรงพยาบาลเอกชนให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้อย่างเต็มที่
  2. ประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้ว่าประเด็นดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยได้รับการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตแล้ว ค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลจะถูกเรียกเก็บจากกองทุนตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย แต่ประเด็นดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวเนื่องในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและมีความประสงค์ที่จะรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนโดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง โดยในประเด็นนี้กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ได้พิจารณา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้กำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุมและค่ารักษาพยาบาลเป็นบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542ซึ่งต่อมากรมการค้าภายในได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 22 มกราคม 2562 และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 พ.ศ. 2562เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ขึ้น เพื่อกำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุมซึ่งในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา พิจารณาว่า การออกประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว รวมทั้งกรมการค้าภายในยังได้กำหนดมาตรการให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ และแสดงข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยาที่กรมการค้าภายในจัดทำไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก รวมทั้งให้โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ โดยให้โรงพยาบาลเอกชนถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวด้วยแล้ว

จากการพิจารณา จะเห็นได้ว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าการดำเนินนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) อาจมีประเด็นปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองอย่างไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาจนทำให้ปัญหาคลี่คลายลงได้

  1. ประเด็นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบประมาณดำเนินงานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่เพียงพอ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะทำงานศึกษากรณีการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตฯ ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินงานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามที่มีการขอรับการจัดสรรตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน และหากในกรณีที่ผลงานบริการในปีใดมีมากกว่างบประมาณที่ได้รับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอของบประมาณเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยังไม่ปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม ดังนั้น ปัญหาตามประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 22 (2) ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37 (8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ดี จากการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะทำงานศึกษากรณีการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตฯ ยังพบบางประเด็นปัญหาที่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขให้สำเร็จลุล่วงแล้วจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ เพื่อศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ดังนี้

ด้านการประชาสัมพันธ์

(1) ขอให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในกำกับทุกแห่ง ดำเนินการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางออนไลน์ รวมทั้งขอให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการคุ้มครอง หลักเกณฑ์การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการฉุกเฉินวิกฤต ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นแบบออฟไลน์ เช่น การปิดประกาศ แจกแผ่นพับ หรือแบบออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เป็นต้นเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และเพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชนในวงกว้างต่อไป

ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสังคมเมืองมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงไม่ทราบถึงนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ซึ่งแตกต่างจากสังคมต่างจังหวัดหรือชนบทที่จะมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ มีความเป็นสังคมชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบกับมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนในต่างจังหวัดจึงสามารถรับทราบถึงการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรุงเทพมหานครดำเนินการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในลักษณะซ้ำ ๆ ในหลาย ๆ ช่องทาง.การสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง

(2) ขอให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการแพทย์ทั้งระบบ เพิ่มการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการคุ้มครอง หลักเกณฑ์การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการฉุกเฉินวิกฤต ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ รวมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดด้วย

ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(1) ขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ ๔) ซึ่งคณะรัฐมนตรี
ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายใน 2 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหาร
ทางเส้นเลือด และหมวดที่ ๑๒ ค่าบริการวิชาชีพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการปรับรายการยาให้ครอบคลุมยาต้นแบบและยาสามัญได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับค่าธรรมเนียมแพทย์เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งจะเป็นกลไกให้โรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพต่อไป

(2) ขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินผ่านระบบ PA ว่าควรประเมินในทุกกรณีหรือเฉพาะกรณีที่แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในระดับฉุกเฉินวิกฤต เนื่องด้วยตามหลักเกณฑ์เดิม แพทย์ผู้ทำการรักษาจะใช้ดุลยพินิจพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนได้มีการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินผ่านระบบ PA ในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากผู้ป่วยหรือญาติ หรือกรณีที่ผู้ป่วยใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ทำการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินผ่านระบบ PA ในผู้ป่วยบางรายได้

(3) ขอให้กรมบัญชีกลางศึกษาหาแนวทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560 ในกรณีการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ยังไม่พ้นภาวะวิกฤตและเกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง โดยยังไม่สามารถย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐได้ เนื่องจากตามประกาศ และแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลในช่วงที่ยังไม่พ้นภาวะวิกฤตและเกินระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง ไปก่อน โดยต้องขอทำความตกลงกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอรับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นรายกรณีผ่านส่วนราชการต้นสังกัด ซึ่งจะเบิกได้ในอัตราการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ หรือเบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้จ่ายไปจริงเท่านั้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เนื่องจากวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนั้น ผู้ป่วยที่ยังไม่พ้นภาวะวิกฤต จึงไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

(4) ขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผลักดันให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ยังปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบไม่แล้วเสร็จ ดำเนินการแก้ไขกฎ ระเบียบให้รองรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดที่ประสงค์ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับบริการสาธารณสุข รวมถึงการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นสามารถทำความตกลงร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้

ด้านการบริหารจัดการ

(1) ขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานคุณภาพ การให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน ดำเนินการตามกฎหมายหากตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ UCEP รวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่เหมาะสมให้ประชาชนได้รับทราบถึงช่องทางการร้องเรียนไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพด้วย เช่น สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส. 1426) หรือเว็บไซต์ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.crm.hss.moph.go.th) เป็นต้น

(2) ขอให้กระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การพิจารณาอาการพ้นภาวะวิกฤตไม่ทำให้ผู้ป่วยมีภาระค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากบางกรณีแพทย์ผู้ทำการรักษาได้พิจารณาว่าผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตในขณะที่ยังไม่สามารถหาโรงพยาบาลปลายทางรับรักษาต่อได้ ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในช่วงที่พ้นภาวะวิกฤตโดยไม่จำเป็น

อนึ่ง เนื่องจากกรณีการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 55 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

“รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”ประกอบกับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติและการประสานการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง จึงได้นำผลการแสวงหาข้อเท็จจริง ตลอดจนข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ และพิจารณาสั่งการและติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนในการที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงต่อไป