โครงการเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบ ให้มีการบังคับใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ (CPR)

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น (3) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป

จากการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมาได้มีการศึกษาการแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวและชีวิตของประชาชน โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องมาตรการความปลอดภัย เมื่อผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คือ การจัดให้มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐาน และการให้ความสำคัญกับการช่วยชีวิตด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR) โดยหากผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต คือ การช่วยเหลือด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (CPR)ด้วยการกดหน้าอกจะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 5 และหากใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 50 โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED)เป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุกหัวใจด้วยการช็อกไฟฟ้าเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ ซึ่งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้ผู้ใช้สามารถปฏิบัติตามได้และเครื่อง AED สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ

เมื่อพิจารณาแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีทิศทางในการขับเคลื่อน โดยกำหนดให้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีเป้าหมายหลักให้เป็นกลไกสำคัญตอบสนองต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยการมุ่งเน้นให้กฎหมายมีความเป็นพลวัตที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนและมีกระบวนการยุติธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาค มีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติในทุกด้านบรรลุความสำเร็จในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ของประเทศ โดยประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีการกำหนด 2 แผนย่อย ได้แก่

1) การพัฒนากฎหมาย : โดยเน้นการดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมายให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องบริบทและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางกฎหมายมาประยุกต์ใช้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงกฎหมายทุกลำดับชั้นให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่ขัดกัน มีการนำกฎหมายไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำกระบวนการยุติธรรมปราศจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกัน

2) การพัฒนากระบวนการยุติธรรม : โดยอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปอย่างเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพเพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้ง กรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายของการดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คือ กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ประกอบกับเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยความเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น โครงการเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบให้มีการบังคับใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ (CPR) จะเป็นการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ติดตั้งไว้ในสถานที่ต่าง ๆ
รวมถึงให้มีการจัดอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (CPR) ซึ่งจะเป็นการยกระดับด้านสาธารณสุขในชีวิตมากขึ้น โดยการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จะพิจารณาจากสถานที่ที่จำเป็น เช่น อาคารที่อยู่อาศัย ท่าเรือ บนเรือโดยสาร สนามบิน สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การประชุม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งสถานที่ดังกล่าวหากมีการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) สถานที่นั้นจะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย ประกอบกับจะต้องมีการจัดอบรมบุคลากรที่มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ได้แก่ มัคคุเทศก์ พนักงานขับรถสาธารณะ เจ้าหน้าที่ประจำจุดอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พนักงานโรงแรม เป็นต้น เพื่อทำการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ (CPR) และสามารถใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ได้ โดยโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานได้ ประกอบกับจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการความมั่นใจในด้านสุขภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ

การดำเนินการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยหลายด้าน ทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น ทั้งการพิจารณาแนวทางความร่วมมือ การกำหนดหลักเกณฑ์ และการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า กฎหมายที่มีอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร หรือหน่วยงานจะต้องมีกฎหมายบังคับใช้ในส่วนใดบ้าง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ในการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED)  รวมถึงการจัดอบรมบุคลากรและการบรรจุหลักสูตร การปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ (CPR) โดยเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของประชาชน และอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
ในเบื้องต้น

ดังนั้น “โครงการเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบให้มีการบังคับใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ (CPR)” จะเป็นการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) รวมถึงการปฐมพยาบาลด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (CPR) เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ประกอบกับจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องการความมั่นใจในด้านสุขภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ แม้ปัจจุบันสังคมและประชาชนโดยทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) รวมถึงการปฐมพยาบาล
ด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (CPR) แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดทั้งทางด้านกฎหมายและแนวนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ มีผู้ป่วยหมดสติจะได้สามารถให้การช่วยเหลือ
ด้วยการกู้ชีพขั้นพื้นฐานก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้  ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. ให้มีการบังคับใช้กฎหมายติดตั้งเครื่อง AED ในสถานที่ต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดให้ติดตั้งในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่แล้วก็ตาม แต่การกำหนดให้สถานที่อื่น ๆ ติดตั้งเครื่อง AED ด้วยนั้น ต้องมีการพิจารณาประกอบกับกฎหมายที่อยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้มีการบังคับใช้เครื่อง AED โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสำรวจกฎหมายว่ามีฉบับใดบ้างที่ยังมีข้อจำกัด ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป
  2. ให้มีการมอบหมายหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษา และตรวจสอบเครื่อง AED ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงติดตั้งระบบ GPS กับตัวเครื่อง และควรมีแอปพลิเคชันในการประสานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากคนในชุมชนช่วยกันสอดส่อง เครื่อง AED ที่อาจเกิดความเสียหายหรือมีการสูญหายขึ้น
  3. ปัจจุบันมีการกำหนดให้เครื่อง AED เป็น “การปฐมพยาบาล” ตามกฎหมาย ควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจว่าเครื่อง AED ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานและผู้ป่วย พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ผู้ใช้ทราบว่าขณะใช้งานเครื่อง AED จะส่งเสียงให้คำแนะนำตลอดการใช้งาน และควรมีการติดตั้งป้ายหรือสัญลักษณ์การใช้งานเครื่อง AED ให้ชัดเจน
  4. ควรจัดทำ “ระบบแสดงพิกัดจุดติดตั้งเครื่อง AED” พร้อมทั้งเชื่อมต่อระบบกับหน่วยปฏิบัติการหรือศูนย์อำนวยการที่รับผิดชอบ รวมถึงขอความร่วมมือระบุจุดติดตั้งเครื่อง AED ใน Google Map พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงที
  5. ควรมีการบรรจุหลักสูตรการใช้งานเครื่อง AED และการปฐมพยาบาลด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ (CPR) ในสถานศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์ของเครื่อง AED

จากข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญในการติดตั้งเครื่อง AED ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ และนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้มีการบังคับใช้เครื่อง AED อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสาธารณสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป