ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา ริมฝั่งแม่น้ำเมย ซึ่งถูกมวลน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะกลางน้ำ

แม่น้ำเมยแนวกั้นเขตแดนระหวางประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในพื้นที่จังหวัดตาก   มีความยาวประมาณ 348,000 เมตร ซึ่งมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงของแนวตลิ่งเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ เนื่องจากแนวแม่น้ำมีความคดเคี้ยวมาก ประกอบกับสภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินปนทราย เมื่อเจอกับปริมาณน้ำที่ไหลเชี่ยวและรุนแรงทำให้เกิดการกัดเซาะของตลิ่ง และไหลลัดตัดโค้งเปลี่ยนแนวของลำน้ำเกิดขึ้นหลายตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาปัญหาตลิ่งริมแม่น้ำเมยที่ถูกกัดเซาะจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งขงสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาริมฝั่งแม่น้ำเมย/ตองยิน และห้วย Galli บริเวณจังหวัด Myawaddy และเขต Wallay Myaing รัฐคะหยิ่น ในพื้นที่จังหวัดตาก ส่งผลกระทบต่อตลิ่งฝั่งไทยหลายประการ เช่น เกิดการกัดเซาะตลิ่งฝั่งไทย ทำให้สูญเสียดินแดน และเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำ ทำให้กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและระบบนิเวศ รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงชายแดน จากผลการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่า มีจุดวิกฤติที่ ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของเมียนมาจำนวน 23 จุด ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนของไทย ได้แก่ อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวยังคงต้องได้รับการหารือและดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและเมียนมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศ และเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาริมฝั่งแม่น้ำเมยในพื้นที่จังหวัดตาก พบว่า

กรณีร้องเรียนที่ 1 เกี่ยวกับบ้านแม่กุหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งถูกมวลน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะกลางน้ำ พบว่า จังหวัดตากได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 โดยแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดตากขึ้นและกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอและประเมินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเมยพร้อมปรับ ภูมิทัศน์ บ้านแม่กุหลวง (บริเวณโรงพระเจ้า) ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ระยะทางประมาณ 1,000 เมตร) ในงบประมาณก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยการสนับสนุนงบประมาณ ของกระทรวงมหาดไทย กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนอย่างเหมาะสมแล้ว

กรณีร้องเรียนที่ 2 เกี่ยวกับบ้านหมื่นฤาชัย หมู่ที่ 5 ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งถูกมวลน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะกลางน้ำ พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 องค์การบริหารส่วนตำบลพบพระได้ก่อสร้างพนังกันดิน ความยาวรวม 170 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งในเบื้องต้น และสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดตากได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณนี้ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากกรมโยธาธิการและผังเมืองไว้เป็นระยะทาง 900 เมตร ด้านละ 450 เมตร ออกไปทั้งสองด้านต่อจากพนังกันดินเดิม แต่เนื่องจากอนุสัญญาระหว่างกษัตริย์สยามกับข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียว่าด้วยเรื่องกำหนดเขตแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่ระหว่างราชอาณาจักรสยามและมณฑลของอังกฤษ คือ เทนเนสเซอริม ค.ศ. 1868 กำหนดให้แม่น้ำเมย “เป็นกลาง” ดังนั้น เขตแดนระหว่างไทย-เมียนมาจะอยู่ที่ชายฝั่งหรือริมตลิ่งของแม่น้ำแต่ละประเทศ จึงมีข้อห่วงกังวลว่าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณดังกล่าวจะเป็นการยอมรับหรือยืนยันเขตแดนทางบกของไทยว่าเป็นไปตามแนวตลิ่งที่ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งโดยปริยายหรือไม่ ซึ่งจะทำให้พื้นที่สันดอนกลางแม่น้ำกลายเป็นบริเวณที่ไม่มีการครอบครอง และอาจทำให้ไทย ต้องสูญเสียดินแดนในบริเวณนั้น อีกทั้งการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณดังกล่าว ยังอาจจะส่งผลให้ กระแสน้ำดันพื้นที่สันดอนกลางแม่น้ำไปรวมกับแผ่นดินฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ ดังนั้นจึงยังไม่อาจเสนอและประเมินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณบ้านหมื่นฤาชัยได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดตาก ได้มีมติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปรียบเทียบแนวเขตแดนของประเทศไทย เพื่อแจ้งไปที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำเนินการรักษาสิทธิในพื้นที่ ที่ถูกน้ำกัดเซาะบริเวณบ้านหมื่นฤาชัยต่อไป ปัจจุบัน จังหวัดตากโดยอำเภอพบพระได้แจ้งให้คนไทย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้กลับเข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในบริเวณดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างกำหนดจุดที่เหมาะสมในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณดังกล่าว

จากการสำรวจจุดวิกฤติการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำเมยในพื้นที่จังหวัดตาก รวมทั้งสิ้น 24 จุด พบว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว รวมทั้งสิ้น 9 จุด (7 โครงการ) โดยแบ่งออกเป็นโครงการในปีงบประมาณการก่อสร้างปี พ.ศ. 2565 จำนวน 6 จุด (4 โครงการ) และโครงการในแผนการก่อสร้างปี พ.ศ. 2567 จำนวน 3 จุด/โครงการ

ส่วนจุดวิกฤติอื่นอีก 15 จุด นั้น เป็นบริเวณที่มีการร้องเรียน 1 จุด (บริเวณบ้านหมื่นฤาชัย) และจุดวิกฤติอื่นอีกจำนวน 14 จุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจ ออกแบบและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย

– กรณีการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ถาวร ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 ซึ่งอำนาจในการพิจารณาอนุญาตจะเป็นของอธิบดีกรมป่าไม้ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– กรณีการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ปัจจุบัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มีคำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน และมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาการปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภค และกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-31 ก.)

– กรณีความคืบหน้าในการพิจารณาจัดการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย – เมียนมา ครั้งที่ 10 ซึ่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว แต่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังขาดความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะพยายามผลักดันให้มีการประชุมดังกล่าวเพื่อเจรจาและพิจารณาปัญหาด้านเขตแดนทางบกระหว่างไทย – เมียนมา กรณีแม่น้ำระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดตากต่อไป

– กรณีการประท้วงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรืออาคารขนาดใหญ่หรืออาคารคาสิโนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ฝ่ายไทยจะดำเนินการประท้วงผ่านกลไกคณะกรรมการ TBC ต่อไป

– กรณีการรักษาสิทธิในเกาะกลางน้ำ ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิในบริเวณสันดอนกลางแม่น้ำได้กลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

สรุปได้ว่า ปัญหาการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำเมยในพื้นที่จังหวัดตาก กำลังได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในพื้นที่วิกฤติแล้ว 9 จุด ส่วนจุดวิกฤติอื่น ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจและออกแบบ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในเขตป่าไม้ถาวร การหารือกับสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา และการรักษาสิทธิในเกาะกลางน้ำ

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำเมยในพื้นที่ จังหวัดตาก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไป และมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. กรณีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในบริเวณบ้านหมื่นฤาชัย ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งด้านเหนือน้ำก่อน เพื่อให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลจนปิดเส้นทางน้ำ และขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับจังหวัดตากดำเนินการประเมินความจำเป็นและบริเวณที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณดังกล่าว
  2. กรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตลิ่งบริเวณบ้านหมื่นฤาชัย สืบเนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตลิ่งมาเป็นระยะเวลานาน จนทำให้การกำหนดแนวเขตของประเทศไทยในบริเวณดังกล่าวยังขาดความชัดเจนเพียงพอ ให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการสำรวจพื้นที่บริเวณบ้านหมื่นฤาชัย เพื่อเปรียบเทียบและยืนยันแนวเขตที่ชัดเจนของประเทศไทย และขอให้จังหวัดตากดำเนินการสำรวจเกาะกลางน้ำในแม่น้ำเมยที่เคยเป็นแผ่นดินไทยและแจ้งไปยังกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเพื่อดำเนินการรักษาสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ
  3. กรณีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรืออาคารขนาดใหญ่หรืออาคารคาสิโนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้จังหวัดตากสำรวจว่ามีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรืออาคารขนาดใหญ่หรืออาคารคาสิโนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาโดยไม่ได้มีการแจ้งให้ประเทศไทยรับทราบก่อนเริ่มการก่อสร้างอีกหรือไม่และขอให้แจ้งไปยังกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
  4. กรณีจุดวิกฤติอื่นทั้ง 14 บริเวณ ให้จังหวัดตากหรือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตากจัดลำดับความสำคัญตามรายงานการสำรวจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งจากกระทรวงมหาดไทยต่อไป
  5. กรณีการจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนร่วม (JBC) ครั้งที่ 10 ให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายพิจารณาแนวทางการประสานการดำเนินการระหว่าง TBC JBC และ RBC พร้อมทั้งผลักดันให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JBC ครั้งที่ 10 เพื่อเจรจาและพิจารณาปัญหาด้านเขตแดนทางบกระหว่างไทย – เมียนมา กรณีแม่น้ำระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดตากต่อไป
  6. กรณีการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าไม้ถาวรเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาขอใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 โดยผ่อนผันให้ส่วนราชการที่จะขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ (ป่าไม้ถาวร) สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อนจนกว่าจะได้รับอนุญาต เฉพาะกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน และจำเป็นอย่างยิ่ง โดยให้หน่วยงานยื่นคำขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้เข้าทำประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวข้างต้นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้กองทัพภาคที่ 3 สนับสนุนการดำเนินงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินโครงการเพื่อความมั่นคง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 ให้สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าไม้ถาวรได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อนจนกว่าจะได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างรวดเร็ว จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา
  7. ให้นายกรัฐมนตรีติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะข้างต้น

ทั้งนี้  สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งผลการวินิจฉัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป