ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริง กรณี เทศบาลแห่งหนึ่งก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยไม่เว้นระยะห่างของอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวง และไม่ชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารให้ทราบ ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหาย

     สำหรับใครที่กำลังมีความคิดที่จะสร้างอาคารหรือบ้านที่อยู่อาศัย นอกจากจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างอาคารที่ต้องออกแบบโดยสถาปนิกหรือวิศวกรแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คือ เมื่อก่อสร้างอาคารแล้วต้องถูกต้องตามกฎหมายการควบคุมอาคารด้วย ไม่ว่าจะสร้างบ้านหรืออาคารใกล้ถนน สระน้ำสาธารณะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ก็ตาม ต้องเช็คระยะร่น ระยะห่าง ตามแนวเขตที่ดินให้ดีๆ ว่าตรงตามกฎหมายควบคุมอาคารและข้อบัญญัติ โดยมีข้อกำหนดการบังคับเกี่ยวกับแนวร่นอาคารจากทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลังอาคาร และระยะห่างจากเขตที่ดินข้างเคียง เพื่อไม่ให้มีการสร้างผิดกฎหมายและอาจได้รับโทษได้

     ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนให้แสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณา

กรณี เทศบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุโขทัยได้ก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กติดกับอาคารที่ยังอยู่ในการรับประกันของผู้ร้องเรียน ซึ่งไม่เว้นระยะห่างอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2550) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหาย และไม่ชี้แจง  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างศูนย์เด็เล็กให้ผู้ร้องเรียนทราบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริง พบว่า เทศบาลดังกล่าวได้ก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ติดกับอาคารที่ยังอยู่ในการรับประกันของผู้ร้องเรียนจริง ซึ่งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลกระทบต่ออาคารที่อยู่ใกล้เคียงได้ หากไม่มีมาตรการป้องกันแรงสั่นสะเทือน แม้การก่อสร้างดังกล่าวจะเป็นการก่อสร้างอาคารราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามข้อ 2 (2) ของกฎกระทรวงว่าด้วย
การยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเทศบาลได้ดำเนินการตามข้อ3 ของกฎกระทรวงฉบับเดียวกันแล้ว อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดังกล่าวจึงถุกก่อสร้างขึ้นตามข้อปฏิบัติในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว

แต่ทั้งนี้เทศบาลยังคงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยที่ข้อ 48 (1) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2550) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

กำหนดว่า อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังของอาคารด้านที่มีหน้าต่างประตู ช่องระบายอากาศ หรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคาร ต้องมีระยะห่างจากผนังของอาคารอื่นด้านที่มีหน้าต่างประตู ช่องระบายอากาศ ช่องแสง หรือระเบียงของอาคาร ไม่น้อยกว่า 4 เมตร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเทศบาลดังกล่าวก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีระยะห่างจากอาคารที่ผู้ร้องเรียนก่อสร้างก่อน มีระยะห่างระหว่างผนังอาคาร 2.48 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ร้องเรียน มติที่ประชุมสรุป ดังนี้

  1. เนื่องจากเทศบาลดังกล่าวก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีระยะห่างจากอาคารที่ผู้ร้องเรียน

ก่อสร้างก่อน และมีระยะห่างระหว่างผนังอาคาร 2.48 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว หากจะแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ต้องทำการแก้ไขปรับปรุงผนังของอาคารใด อาครารหนึ่งให้เป็นผนังทึบ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 48 (2) (ก) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้มีระยะห่างระหว่างผนังไม่น้อยกว่า 2 เมตร

ต่อมา เทศบาลดังกล่าวได้รายงานว่า ได้แก้ไขปรับปรุงผนังของอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้อาคารใดอาคารหนึ่งให้เป็นผนังทึบ ให้เป็นไปตามข้อ 48 (2) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตาม    ความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2550) จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว ตามมาตรา 37 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

        2. กรณีร้องเรียนเทศบาลดังกล่าวไม่ชี้แจงและไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ผู้ร้องเรียนทราบ นั้น จากการดำเนินการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ข้อเท็จจริงว่า  ผู้ร้องเรียนได้มีหนังสือ ขอให้เทศบาลดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สร้างขึ้นภายหลัง และต่อมาเทศบาลได้มีหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ผู้ร้องเรียนรับทราบแล้ว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวกรณีการร้องเรียนในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว ตามมาตรา 37 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้วินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนนี้ตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 โดยให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้ร้องเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป