กรณีการแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ

กรณีการแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร  อากาศโดยรวมจะร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปี ส่วนอากาศหนาวจะมีช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่หนาวมาก ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ในฤดูหนาว จะมีบางพื้นที่ โดยเฉพาะตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอากาศหนาวจัด  โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยและยอดภู และบางพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำ จนเข้าสู่ภาวะภัยหนาวได้

สำหรับกรณีภัยหนาว กระทรวงการคลังได้กำหนดให้มีการออกระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการในการให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่สามารถรอการเบิกเงินจากงบประมาณแผ่นดินได้อย่างทันท่วงที โดยให้คำนิยามของคำว่าภัยพิบัติไว้ในข้อ 5 ให้หมายความว่า

สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

สำหรับ กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ นั้น เดิมหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กำหนดว่า “กรณี อากาศหนาวมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรได้เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 240 บาท ทั้งนี้ จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท

ต่อมา ในปี 2558 กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556  เป็น กรณีอากาศหนาวจัด ผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ได้เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 240 บาท ทั้งนี้จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท ” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

หลังจากมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้อากาศหนาวจัดผิดปกติต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยไม่ได้พิจารณาถึง พื้นที่ในการวัดอุณหภูมิ  อายุ  สุขภาพ ของผู้ประสบภัย ที่ตั้งเครื่องมือในการวัดอุณหภูมิ การอ้างอิงอุณหภูมิแต่ละพื้นที่

ประกอบกับสถานการณ์ภัยหนาวมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชนเป็นอย่างมาก และปรากฏข่าวสารว่ามีประชาชนเสียชีวิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยหนาว ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากเครื่องกันหนาวไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพอากาศหนาว แต่เนื่องจากอุณหภูมิไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ทำให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดซื้อเครื่องกันหนาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้หยิบยกปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากภัยหนาว  จึงได้มีหนังสือถึงหน่วยงานส่วนกลาง จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง 2) กระทรวงสาธารณสุข 3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 5) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6) กรมอุตุนิยมวิทยา 7) กรมป่าไม้ และ 8) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมีหนังสือถึงจังหวัด (จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำนวน 36 จังหวัด ที่เคยประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง ผลการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง   ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ขอให้กระทรวงการคลังปรับปรุงนิยามของคำว่าภัยพิบัติในข้อ 5 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ในกรณีอากาศหนาวเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์อากาศหนาวของกรมอุตุนิยมวิทยา

จาก “ภัยพิบัติ หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน”

เป็น “ภัยพิบัติ หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน”

2.ขอให้กระทรวงการคลังแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ข้อ 5.1.14 จาก “กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ มีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ประชาชนได้เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 300 บาท ทั้งนี้ จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,200,000 บาท”

เป็น “กรณีอากาศหนาวผิดปกติ มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกัน เกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ประชาชนได้เท่าที่
จ่ายจริงคนละไม่เกิน 300 บาท ทั้งนี้ จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,200,000 บาท”เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความจริงในการที่หน่วยงานของรัฐจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากกรณีอากาศหนาวตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
พ.ศ. 2563 ดังกล่าว

3.ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงราคาเครื่องกันหนาวให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจทุก ๆ 5 ปี และอาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อเครื่องกันหนาวในด้านต่าง ๆ เช่น
การจัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ คุณภาพของเครื่องกันหนาว เป็นต้น

4.ขอให้กระทรวงมหาดไทยซักซ้อมแนวปฏิบัติในการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 เพื่อเยียวยาและพื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติอันเนื่องมาจากอากาศหนาวผิดปกติได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

5.ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่ประสงค์จะแจกจ่ายเครื่องกันหนาวโดยขอให้ประสานงานกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ที่จะได้รับแจกจ่ายเครื่องกันหนาว ทั้งนี้ มิให้เกิดความซ้ำซ้อนและสามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

6.ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในพื้นที่ที่สถานีตรวจวัดอากาศของ
กรมอุตุนิยมวิทยาดูแลไม่ทั่วถึง) ประสงค์จะจัดให้มีเครื่องวัดอุณหภูมิโดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และขอให้กรมอุตุนิยมวิทยาให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิค วิชาการและรับรองผล

7.ขอให้กรมอุตุนิยมพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ และประสานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ในการใช้เกณฑ์อุณหภูมิที่วัดได้จากเครื่องตรวจวัดอากาศของทั้งสองหน่วยงานในพื้นที่ (ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประกาศอุณหภูมิและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว)

8.ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยาเร่งรัดการจัดทำแผนงานและขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปีเพื่อดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศ และ/หรือ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่สูงที่ยังขาดแคลน เพื่อให้จังหวัดสามารถนำข้อมูลไปประกอบการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ในพื้นที่ได้

9.ขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี เพื่อสนับสนุนให้กรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศ และ/หรือ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งด้านชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย การเกษตร เป็นต้น

10.ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางการจัดทำทะเบียนข้อมูล
การแจกจ่ายเครื่องกันหนาวประจำปี รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและตรวจสอบมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการแจกจ่ายเครื่องกันหนาว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนของประชาชน ขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน
120 วัน และแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบต่อไป