กรณี การคุ้มครองและรับรองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงานเป็นการเฉพาะ

กรณี การคุ้มครองและรับรองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงานเป็นการเฉพาะการฝึกงาน คือ การให้นักศึกษานำทักษะและวิชาที่ได้เรียนรู้มาไปใช้ในการทำงานจริง โดยนำความรู้    จากภาคทฤษฏีไปสู่การฝึกการปฏิบัติในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเสริมทักษะและประสบการณ์ในการทำงานซึ่งสถานศึกษาจะทำข้อตกลงร่วมกับกับสถานประกอบการ เพื่อส่งนักศึกษามาฝึกงานตามหลักสูตรการศึกษา     ในสาขาวิชาเรียนที่สถาบันการศึกษากำหนดไว้ โดยสถาประกอบการจะเป็นผู้ประเมินผลการฝึกงานร่วมกับสถานศึกษา

ผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นอุปนายกสโมสรนักศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทย  ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับควบคุมดูแลการฝึประสบการณ์ของนักเรียนนักศึกษา มีเพียงกฎระเบียบ ของสถาบันการศึกษาบางแห่งและข้อตกลงร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการเท่านั้น ดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานก็ไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ เนื่องจากนักศึกษาที่ฝึกประสบการณ์ไม่ถือว่าเป็นแรงงานตามกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการใช้ให้ทำงานเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ให้ทำงานที่เป็นงานต้องห้ามและอันตราย ให้ทำงานโดยไม่สนใจสภาพร่างกายทำให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมหรือเกิดทุพพลภาพ การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้รับการชดเชยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อชีวิตแลทรัพย์สินอันเกิดจากการทำงานตามระบบที่ควรจะเป็น ดังนั้น ผู้ร้องเรียนจึงได้ร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขอให้มีกฎหมายเพื่อดูแลนักศึกษาผู้เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการโดยเฉพาะ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา และมีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา และจัดให้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณี นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และผู้ร้องเรียน เพื่อรับฟังความเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

จากการพิจารณข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณี นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงาน  และผู้ร้องเรียนมีความประสงค์ให้มีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงานเป็นการเฉพาะ นั้น  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การคุ้มครองนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายฉบับ ได้แก่

– พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545

– พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

– กฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

– ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน

– ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่อง กำหนดรายการตามสัญญาการฝึกเตรียมเข้าทำงาน

ทั้งนี้ หากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการประสานหรือกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการกำกับ ดูแล และคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการตามที่กำหนดในหลักสูตรของสถาบันการศึกษา เช่น การจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อรวบรวมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดทำฐานข้อมูลกลางและประสานงานข้อมูลเกี่ยวกับการส่งและรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการการกำหนดข้อบังคับหรือข้อตกลงระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการให้สอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าตรวจสอบและแจ้งให้สถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อที่ไม่สามารถจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่นักศึกษา โดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละแห่งจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการส่งนักศึกษาเข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการและการคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานให้เหมาะสมกับหลักสูตร การเรียนการสอน

2. ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน ให้สอดคล้องตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ 2565 เรียบร้อยแล้ว และกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนข้อมูลให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรวบรวมเพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พิจาณณาจัดทำหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาเข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการต่อไปแล้ว

3. ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินการให้ข้อมูลกรณีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการประชุมเพื่อจัดทำระเบียบกลาง เพื่อให้ทุกสถาบันอาชีวศึกษานำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (1) ประกอบมาตรา 32 และมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาและดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนและลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยไม่จำเป็น ดังนี้

1.ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำหลักเกณฑ์มาตรฐานกลางเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งตัวนิสิตและนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการ โดยให้นำข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงานของกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รวบรวมเพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาประกอบการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานการส่งตัวนิสิตและนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการ แล้วรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 120 วัน

2.ให้กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กำชับพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบ ติดตาม กำกับ และดูแล ให้สถานประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองนักศึกษาในระหว่างการฝึกงานตามหลักสูตรของสถาบันการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น