การจัดการปัญหาสาธารณสุขบนเกาะพะงัน

เกาะพะงัน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 100 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 168 ตารางกิโลเมตร เกาะพะงันถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยอดนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และยังถือเป็นเกาะที่สร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศจากการจัดงานฟูลมูนปาร์ตี้ในคืนพระจันทร์เต็มดวงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเกาะพะงันปีละ 1.1 ล้านคน ส่งผลทำให้มีรายได้เข้าประเทศกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถึงกระนั้น ระบบสาธารณสุขบนเกาะพะงันก็ยังไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ เนื่องจากโรงพยาบาลเกาะพงันพียงแห่งเดียว จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาโรงพยาบาลเกาะพงันให้มีความพร้อมในการรักษาพยาบาล รวมถึงสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นได้

ดังจะเห็นได้จากโรงพยาบาลเกาะพะงัน เดิมเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง จนกระทั่งได้ขยายขนาดเป็น 30 เตียง ซึ่งสภาพปัญหาที่สำคัญของโรงพยาบาล คือ การจัดสรรงบประมาณซึ่งพิจารณาจากจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะพะงัน แต่ไม่ได้พิจารณาถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากซึ่งมีเหตุต้องใช้บริการโรงพยาบาลเกาะพะงัน ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเกาะพะงันต้องรองรับการดูแลรักษานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาโรงพยาบาลเกาะพะงันให้มีความพร้อมในการรักษาพยาบาลมีห้องผู้ป่วยและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นได้ ประกอบกับโรงพยาบาลเกาะพะงันต้องสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรส่วนหนึ่งให้แก่โรงพยาบาลเกาะเต่า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ภายใต้อำเภอเกาะพะงันที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติรหัสโรงพยาบาลเกาะเต่า จึงทำให้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรง ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลให้โรงพยาบาลเกาะพะงันมีงบประมาณในการบริหารจัดการไม่เพียงพอ จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (พลเอก วิทวัส  รชตะนันทน์)  ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการเสริมสร้างบริการสาธารณสุขของทางภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหา และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขบนเกาะพะงัน ดังนี้

  1. ให้โรงพยาบาลเกาะพะงันจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเกาะพะงัน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องมือทางการแพทย์และปรับปรุงพื้นที่การให้บริการผู้ป่วย เพื่อการบริการผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โรงพยาบาลเกาะพะงันได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเกาะพะงันเรียบร้อยแล้ว
  2. ให้ดำเนินการขออนุมัติรหัสโรงพยาบาลให้กับโรงพยาบาลเกาะเต่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของโรงพยาบาลเกาะพะงัน เนื่องจากโรงพยาบาลเกาะพะงันต้องสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้แก่โรงพยาบาลเกาะเต่า และปัจจุบันโรงพยาบาลเกาะเต่าได้รับการอนุมัติรหัสโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินการด้านงบประมาณและทรัพยากรได้เองโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของโรงพยาบาลเกาะพะงันอีกต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเกาะพะงันแล้ว โรงพยาบาลได้นำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ มาจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย การปรับปรุงอาคารสถานที่ และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลเกาะพะงัน ให้สามารถรองรับการให้บริการผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อลดการรอคอย ลดความผิดพลาด เพิ่มความพึงพอใจ และยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลให้เป็น Smart Hospital เช่น การติดตั้งเครื่อง Thermo scan , การติดตั้งตู้ Kiosk , การติดตั้งระบบประตูสแกนหน้า ER , IPD negative pressure , IPD Paperless ลดการใช้กระดาษ , ระบบการส่งยาที่บ้าน , รถจ่ายยาอัตโนมัติ และการนำ Application เข้ามาสนับสนุนการให้บริการ เช่น Application BMS Patient Consent & BMS OPD Registry เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถลงทะเบียนเข้ารับการใช้บริการ ล่วงหน้า และสามารถกรอกข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงอาการเจ็บป่วยก่อนเดินทางมาเข้ารับบริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มอบหมายให้สำนักสอบสวน 4 ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการแก้ไขปัญหาการสาธารณสุขของประชาชนและนักท่องเที่ยวบนพื้นที่เกาะพะงัน พบว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเกาะพะงันมีความพร้อมในเรื่องการให้บริการการสาธารณสุขแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบนพื้นที่เกาะพะงันเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการงบประมาณ โดยมีรายได้จากการให้บริการด้านการแพทย์เฉลี่ยปีละ 10 – 20 ล้านบาท และสามารถนำไปเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ