ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขปัญหา กรณีการไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง

ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขปัญหา กรณีการไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ทำสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการสร้างที่จอดรถพร้อมพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนกับผู้ร้องเรียน กำหนดส่งมอบงานภายใน 120 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท ผู้ร้องเรียนได้ควบคุมและส่งมอบงานก่อสร้างดังกล่าวแก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้ว่าจ้างแล้วแต่ผู้ว่าจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้าง ให้แก่ผู้ร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า ใบประกอบวิชาชีพของผู้ร้องเรียนหมดอายุ  ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างก็ไม่ได้ทำหนังสือยกเลิกสัญญาแต่ประการใด ผู้ร้องเรียนได้ติดตามทวงถามผู้ว่าจ้างมาโดยตลอดและได้มีหนังสือถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ขอให้ชำระค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้าง ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริง โดยสอบถามจากผู้ร้องเรียน ได้ความสรุปว่า เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการสร้างที่จอดรถพร้อมพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนดังกล่าวมีความจำเป็นค่อนข้างเร่งด่วน ผู้ร้องเรียนได้รับรองยืนยันความถูกต้องของเอกสารสำคัญต่าง ๆ แม้ต่อมาภายหลังพบว่าเอกสารสำคัญ ได้แก่ สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมได้หมดอายุแล้วในขณะเสนอราคา และเชื่อโดย สุจริตว่า ผู้ร้องเรียนมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่สามารถใช้ในการรับงานจ้างได้จริง โดยได้ขอให้ผู้ร้องเรียนไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ การขอตรวจสอบใบอนุญาตจากสภาสถาปนิก จะต้องทำเป็นหนังสือไปยังสภาสถาปนิกซึ่งจะต้องใช้เวลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงได้ ทำสัญญาจ้างผู้ร้องเรียนเป็นผู้ควบคุมงานไปก่อน คู่ขนานไปกับการติดตามใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้ร้องเรียน ซึ่งผู้ร้องเรียนมีเจตนาปกปิดและได้บ่ายเบี่ยงตลอดมา เมื่อได้หารือกับสภาสถาปนิกแล้วได้ความว่าช่วงเวลานับแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุจนถึงวันก่อนที่สภาสถาปนิกอนุมัติการต่ออายุใบอนุญาต สถาปนิกผู้ควบคุมงานไม่สามารถปฏิบัติงานสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ และถือเป็นสาระสำคัญจึงไม่อาจจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ร้องเรียนได้

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้โทรศัพท์สอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง สรุปได้ว่า กรมบัญชีกลาง ได้พิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐวินิจฉัยชี้ขาดสัญญาจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างดังกล่าวแล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเรียนยืนยันว่าตนมีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและจะนำไปให้ในภายหลัง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงได้ทำสัญญาจ้างกับผู้ร้องเรียน เนื่องจากงานก่อสร้างกำลังจะเริ่มดำเนินการและมีความจำเป็นต้องมีผู้ควบคุมงาน กรณีดังกล่าวถือได้ว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์สินอันทำให้การแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ” และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติ ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น” ประกอบกับสภาสถาปนิกได้ตอบข้อหารือของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ว่ากรณีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของสถาปนิก ผู้ควบคุมงานก่อสร้างสาขาสถาปัตยกรรมหลักระดับภาคีสมาชิกได้หมดอายุ และไม่ได้ดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าว สถาปนิกผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะไม่สามารถปฏิบัติงานสถาปัตยกรรมควบคุมได้ และถือเป็นสาระสำคัญในคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ผู้ร้องเรียนได้มีการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเหตุแห่งการเป็นโมฆียะกรรมได้หมดสิ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การให้สัตยาบัน แก่โมฆียกรรมนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว” ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่จะพิจารณาดำเนินการให้สัตยาบันแก่การอันเป็นโมฆียะกรรมดังกล่าวข้างต้น

ต่อมา ผู้ร้องเรียนได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะดำเนินการตามผลการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป โดยไม่ใช้แนวทางการให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น เนื่องจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะไม่สามารถชี้แจงต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้หากจะต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,000 บาทให้แก่ผู้ร้องเรียน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ร้องเรียน ร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน และพิจารณาหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ที่ประชุมมีความเห็นว่า เรื่องร้องเรียนนี้ ปัญหาไม่ได้เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องเรียนในทางทุจริตแต่เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ จัดซื้อจัดจ้างไม่ใช้ความระมัดระวัง หรือไม่รอบคอบในการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานเอกสารสำคัญของผู้ร้องเรียนก่อนเสนอผู้มีอำนาจในสัญญาจ้างพิจารณาลงนาม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้มีหนังสือขอหารือแนวทางปฏิบัติในกรณีปัญหานี้ไปยังกรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วว่า การทำสัญญาครั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างสำคัญผิดในคุณสมบัติของ ผู้รับจ้างว่ามีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและไม่ขาดอายุ จึงได้ลงนามในสัญญาจ้างผู้ร้องเรียน ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นโมฆียะ แต่ต่อมาผู้ร้องเรียนได้ทำการต่อใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในภายหลัง เป็นเหตุให้โมฆียะกรรมหมดสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 179 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน) สามารถใช้ดุลพินิจในการให้สัตยาบันได้

เมื่อกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือตอบข้อหารือแก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) แล้ว ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สามารถใช้ดุลพินิจในการให้สัตยาบันในสัญญาที่ได้กระทำไว้ ต่อผู้ร้องเรียนได้  การทำสัญญาจ้างผู้ร้องเรียนให้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร เมื่อผู้ร้องเรียนได้ทำการควบคุม  การก่อสร้างอาคารตามสัญญาจ้างจนแล้วเสร็จและส่งมอบงานจ้างให้แก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าวสมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน และไม่พบสภาพความบกพร่องของตัวอาคาร  ดังนั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)   มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างควบคุมงานตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องเรียน เป็นการปฏิบัติตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะยึดหลักตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้  การที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ไม่ยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นผู้รับจ้าง อาจถือได้ว่าหน่วยงานของรัฐเอาเปรียบเอกชนหรือประชาชน  โดยไม่ใช้หลักนิติธรรม ทั้งที่หน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจ ในการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมสัญญาที่เป็นโมฆียะได้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ควรพิจารณาดำเนินการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสถาบันต่อประชาชน และส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับคู่สัญญาซึ่งเป็นเอกชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติขอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รับความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนกรมบัญชีกลาง  ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบกับหนังสือกรมบัญชีกลางที่ตอบข้อหารือของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรณีสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการสร้างที่จอดรถพร้อมพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชน นำเสนอต่อผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวในแนวทางที่เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป และรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบโดยเร็วต่อไป

ต่อมา  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการสร้างที่จอดรถพร้อมพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนให้แก่ผู้ร้องเรียน เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และผู้ร้องเรียนได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามมาตรา 87 และมาตรา 104  แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และข้อ 134 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเคร่งครัดและด้วยความรอบคอบ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับผิดชอบต่อไป