สิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 56กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในมาตรา 230 (3) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทราบข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อว่าตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยมีประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่น้อยกว่า 48,851 ครัวเรือน โดยเป็นครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ปกติ 24,738 ครัวเรือน ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่หน่วยงานของรัฐ จำนวน 23,606 ครัวเรือนและมีครัวเรือนที่ไม่เข้าหลักเกณฑที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขยายเขตให้บริการไฟฟ้าได้ จำนวน507 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตรระยะที่ 2 (คขก.2) โครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ราษฎรรายใหม่ ระยะที่ 2 กำหนดมาตรการแผนงานเร่งรัดขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร และดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแผนงานในอนาคตเพื่อดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 3 (คขก.3) สำหรับชุมชนที่ตั้งครัวเรือนอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงจะดำเนินโครงการจัดหาพลังงานทดแทนให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งได้ทำการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นแนวทางในการขยายเขตไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับชุมชนต่าง ๆ ในการดำเนินการขยายเขตของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พบปัญหา เช่น ในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐมีการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนการปฏิบัติหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report : EIA) และในการดำเนินโครงการจัดหาพลังงานทางเลือกยังไม่มีแนวทางการสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้เก่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาที่จะถ่ายทอดให้กับประชาชนในชุมชน และพื้นที่ซึ่งประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้มีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าทั้งในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก โดยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 2564สูญเสียรายได้ จำนวน 273 ล้านบาท และมีประชาชนค้างชำระค่าไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง เฉพาะในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 703,653 ราย ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 230 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 22 (3) มาตรา 35 และ มาตรา 37 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560  เสนอรายงานพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี กรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 56 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ดังต่อไปนี้

​​1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนสองระดับ ดังนี้

​     1.1  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนระดับชาติ
ให้ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องระดับนโยบาย โดยมีหน้าที่หลัก ได้แก่

         (1) พิจารณาวางแผนและกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือน พร้อมกับแสวงหาความร่วมมือจากภาคธุรกิจและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ตามกำลัง

         (2) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิทางด้านภาษีกับภาคธุรกิจและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือน

         (3) ติดตาม เร่งรัด การแก้ไขปัญหาสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

​​1.2คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนระดับจังหวัด
โดยคณะกรรมการชุดนี้ให้จัดตั้งขึ้นเฉพาะในจังหวัดที่ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ยังไม่ครบถ้วนเป็นจำนวนมากและมีความซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่ โดยคณะกรรมการชุดนี้อย่างน้อยประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เช่น ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ ผู้แทนสำนักงานพลังงานจังหวัด ผู้แทนกรมป่าไม้ในพื้นที่ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในพื้นที่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานของกองทัพบกในพื้นที่ ผู้แทนหน่วยงานของกองทัพเรือในพื้นที่ ผู้แทนสำนักงาน
ธนารักษ์จังหวัด และผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นต้น คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลัก ได้แก่    

         (1) บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนภายในจังหวัด

         (2) สำรวจข้อมูลจำนวนประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภายในจังหวัด

         (3) รวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนในแต่ละจังหวัด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนระดับชาติเพื่อพิจารณา

​​2.ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สมัครลงทะเบียนขอรับสิทธิผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกำหนดมาตรการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ค้างชำระค่าไฟฟ้าให้สามารถแบ่งจ่ายค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระตามกำลังทางเศรษฐกิจ และรณรงค์ให้ประชาชนชำระค่าไฟให้ครบถ้วน พร้อมกับออกประกาศยกเว้นค่าปรับหรือมีรางวัลเป็นแรงจูงใจเพื่อให้ชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างจ่าย โดยกำหนดช่วงเวลาในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวในช่วงระหว่างที่รัฐประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) รอบแรกและต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

​​3. ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันสำรวจข้อมูลจำนวนครัวเรือนและพิจารณาดำเนินการติดตั้งพลังงานทางเลือกให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงและไม่สามารถดำเนินการขยายเขตได้ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้การใช้งานและการบำรุงรักษาให้กับชุมชนที่มีข้อจำกัดด้านการขยายเขตโดยให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณและสนับสนุนด้านอื่น ๆ

​​     4. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้เร่งรัดการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ยังเหลืออยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อใช้ประกอบเป็นภาคผนวกในกฎหมายลำดับรอง พร้อมกับเร่งจัดทำกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 64แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือหากมีความจำเป็นอาจขยายเวลาได้ตามความเหมาะสมเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว

​​     5. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันพิจารณาจัดทำการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report : EIA) ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลภายนอกเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ  

​​     6. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันสำรวจข้อมูลจำนวนครัวเรือนและดำเนินการแก้ไขปัญหาประชาชนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปกติและอาศัยอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ให้มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนภายใน 5 ปี

7.ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้นพร้อมกับเพิ่มสิทธิจากเดิมที่ “ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย”     เป็น “ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 60 หน่วย” เพื่อเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนในกลุ่มนี้ให้สูงขึ้น และกำหนดมาตรการป้องกันงบประมาณจากนโยบายนี้ที่รั่วไหลไปยังผู้มีรายได้ปานกลางและมีบ้านหลายหลัง โดยการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาช่วยระบุตัวตนประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้การระบุตัวตนเกิดความแม่นยำขึ้นจะสามารถช่วยป้องกันงบประมาณจากนโยบายนี้รั่วไหลและทำให้การใช้จ่ายงบประมาณตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น