กรณีขอให้แก้ไขแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคองให้เป็นไปตามแนวเขตที่ดินของคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแนวเขตที่ดินนิคม สร้างตนเองได้ใช้สิทธิประโยชน์จากที่ดินในด้านต่าง ๆ

แนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตำบลคลองม่วง จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำตะคองได้มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 พ.ศ. 2515 มีเนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ ครอบคลุม 9 ตำบล 7 หมู่บ้าน มีประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 1,283 ครอบครัว ประมาณ 3,000 คน โดยกำหนดให้มีสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 สมาชิกที่ได้รับการจัดสรที่ดินจากการสร้างเขื่อน และประเภทที่ 2 สมาชิกสมทบ

ต่อมาในปี 2536 ได้มีการสำรวจตรวจสอบแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในเรื่องแนวเขตของนิคมอย่างชัดเจน  ส่งผลให้ประชาชนที่ทราบข่าวการสำรวจ ตามประกาศของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2538 ได้มายื่นเรื่องเพื่อให้นิคมสร้างตนเองลำตะคองออกเอกสารสิทธิเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปออกเป็นโฉนดที่ดิน

ต่อมาเมื่อปี 2547 นิคมสร้างตนเองลำตะคองได้นำระบบแผนที่ (1 : 50,000) มาใช้เพื่อตรวจสอบที่ดินในแนวเขตตามที่คณะกรรมการของจังหวัดนครราชสีมาประกาศไว้เมื่อปี 2538 เมื่อนำแผนที่มาขยายพบว่า แนวเขตตามประกาศจังหวัดนครราชสีมา ไม่ตรงกับแนวเขต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 โดยมีพื้นที่ของตำบลคลองม่วงและตำบลวังไทรอยู่นอกเขตพื้นที่ดังกล่าว

เมื่อนิคมสร้างตนเองลำตะคองตรวจพบข้อเท็จริงในส่วนนี้ว่ามีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนวเขตและนอกแนวเขตจึงได้แจ้งด้วยวาจากับประชาชนในพื้นที่ทราบว่า ประชาชนที่มีแปลงที่ดินและอาศัยอยู่นอกเขต นิคมสร้างตนเองลำตะคองจะไม่พิจารณาออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนนอกพื้นที่ได้

ต่อมา ในปี 2562 ยังไม่มีการแก้ปัญหาแนวเขตดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล  ที่ดินแปลงใดที่ได้รับเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ถูกเพิกถอน และได้รับสิทธิต่าง ๆ จากนโยบายรัฐบาลอย่างถูกต้อง  แต่ยังมีประชาชนที่มีที่ดินติดกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ไม่ได้รับรับเอกสารจากทางนิคม จะไม่สามารถไปขอรับความช่วยเหลือจากนโยบายรัฐบาลได้  นอกจากนี้ การใช้สิทธิประโยชน์จากที่ดินในด้านต่าง ๆ เช่น การกู้เงินการจำนอง การสร้างที่อยู่อาศัย การขอน้ำ การขอไฟ ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ  ประชาชนทั้ง 2 ตำบล จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งกำกับดูแลนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ดำเนินการขยายแนวเขตนิคมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ให้เป็นแนวเขตเพิ่มตามประกาศจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2538 เพื่อจะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนที่อาศัยและมีที่ดินในแนวเขตดังกล่าว

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว

ต่อมา ในปี 2563 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและจัดทำข้อมูลแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และในปี 2565 จังหวัดนครราชสีมาได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะทํางานแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา โดยให้คณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลแนวเขตของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตรวจสอบโฉนดที่ดิน เอกสารการครอบครองที่ดินของประชาชนและหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการตรวจสอบและจัดทำข้อมูลแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และคณะทํางานแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ได้รวบรวมข้อมูล ตรวจสอบเอกสารการครอบครองที่ดินของประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรอบคอบ และรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ลงพื้นที่และประชุมปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ร้องเรียน โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ปัญหาในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ปัญหาแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคองได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง จัดทำข้อมูลและแผนที่ทับซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว ที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 10 (7) ในการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวให้เหมาะสมตามเรื่องร้องเรียนนี้จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐสมควรมีการปรับปรุงกฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

ที่ประชุมจึงขอให้สำนักคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวให้เหมาะสม และเสนอแนะแนวทางแก้ขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติและรายงานความคืบหน้าให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบทุก 3 เดือน เพื่อจักได้แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและขจัดความเดือดร้อนให้กับผู้ร้องเรียนและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ    ที่อยู่อาศัยนอกแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคองตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 แต่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินของคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาและดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และจังหวัดนครราชสีมาจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาดำเนินการต่อไป ภายใน 30 วัน
  2. ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลจากนิคมสร้างตนเอง ลำตะคอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานเพื่อพิจารณาแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินและมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้ผลกระทบที่เหมาะสม เพื่อเสนอแนะคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติต่อไป และรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบทุกระยะ 3 เดือน