ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ประชุมรับฟังข้อมูลการจัดการความปลอดภัยและผลกระทบด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)” และ“โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ตอน 2”

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์บริหารการจราจรระหว่างก่อสร้างทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจเอก จิระวุฒิ ตัณฑศรี ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นางสาวพรประภา เหม่งเวหา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ประชุมรับฟังข้อมูลการจัดการความปลอดภัยและผลกระทบด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)” ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรสาคร แขวงทางหลวงสมุทรสาคร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินโครงการ ผู้ปกครองท้องที่ และตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลรายละเอียด และความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้าง ปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้าง การดำเนินการตามกฎหมาย คู่มือ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง การตรวจสอบและจัดทำรายงานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง สถิติและสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง ขั้นตอนการชดเชยเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวงกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการกำหนดมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัย (Double Safety) ในการปฏิบัติงานก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) จำนวน 33 ข้อ และรายการตรวจสอบ (Check List) การทำงานของผู้รับจ้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จำนวน 46 รายการ ในการนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องการอาศัยกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดในการบูรณาการความร่วมมือด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง การเปิดโอกาสให้ผู้แทนส่วนราชการในพื้นที่ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งสภาพปัญหาและจุดเสี่ยงในพื้นที่ก่อสร้างผ่านแอปพลิเคชัน สนทนากลุ่ม การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหรือส่วนงานที่รับผิดชอบด้านการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุจากการก่อสร้างเป็นการเฉพาะ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับบุคลากรและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมความปลอดภัย (Safety Engineering) และเพิ่มสัดส่วนงบประมาณด้านความปลอดภัยในการดำเนินโครงการก่อสร้างสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จากนั้นเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ณ พื้นที่ดำเนินงาน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริเวณถนนพระราม 2 (ขาเข้า) กม.10 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ในวันเดียวกัน เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ได้ประชุมรับฟังข้อมูลการจัดการความปลอดภัยและผลกระทบด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ตอน 2” ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง จังหวัดนนทบุรี แขวงทางหลวงนนทบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี อำเภอบางใหญ่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินโครงการ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการการดำเนินการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างและความปลอดภัยทางถนน รายละเอียดปริมาณวัสดุอุปกรณ์อำนวย ความปลอดภัยภายในโครงการ การอำนวยความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง การจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง การจัดทำรายงานความปลอดภัย และข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังได้พิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั้งในระหว่างและหลังดำเนินโครงการ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะเบื้องต้นให้กรมทางหลวง และผู้รับผิดชอบโครงการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบแผนผังการก่อสร้างที่ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนออกแบบว่ามีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงหรือไม่ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนให้เกิดความละเอียดรอบคอบก่อนเข้าดำเนินการก่อสร้าง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ เพื่อให้การดำเนินโครงการของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ การประชุมและแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเชิงระบบ “โครงการศึกษาการจัดการความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้างและบำรุงทาง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้างและบำรุงทาง รวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะสรุปรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากการแสวงหาข้อเท็จจริงในครั้งนี้ เสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสม เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างหรือบำรุงทางต่อไป