กรณีท่าอากาศยานตรังดำเนินการก่อสร้างและขยายท่าอากาศยานตรัง โดยมิได้มีมาตรการป้องกัน และดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ชาวบ้านบริเวณท่าอากาศยานตรังได้รับความเดือดร้อน กรณีท่าอากาศยานตรังได้มีการดำเนินการก่อสร้างและขยายท่าอากาศยานตรัง โดยมิได้มีมาตรการป้องกันและดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ควัน ส่งผลกระทบต่อเด็ก คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องปิดประตูบ้าน บางบ้านต้องใช้ผ้ายางมาปิดประตูหน้าบ้านไว้เพื่อป้องกันฝุ่นละออง รวมทั้งส่งผลให้พืชผลทางการเกษตร พืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ซึ่งได้มีการร้องทุกข์ไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองตรังแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ผู้ร้องเรียนและชาวบ้านในพื้นที่จึงได้ทำหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่ดินให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีหนังสือให้จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง และท่าอากาศยานตรังชี้แจงข้อเท็จจริง จากการแสวงหาข้อเท็จจริง พบว่า

โครงการขยายและปรับปรุงท่าอากาศยานตรัง ทั้ง 2 โครงการ อยู่ในพื้นที่ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่ของท่าอากาศยานตรังปัจจุบัน มีระยะห่างจากชุมชนใกล้เคียงเกินกว่า 100 เมตร เว้นแต่ชุมชนหมู่ที่ 9 บ้านทุ่งหวัง จำนวน 14 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ใกล้แนวรั้วด้านทิศตะวันตกที่เป็นเส้นทางขนย้ายดินภายในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ก่อนดำเนินการก่อสร้างผู้รับจ้างได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครงการบริเวณทางเข้าโครงการด้านทางหลวงหมายเลข 404 และทางเข้าท่าอากาศยานตรัง ตามข้อกำหนดเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลของโครงการ

ผู้รับจ้างได้เข้าดำเนินการก่อสร้างโดยเริ่มเปิดผิวดินเพื่อปรับพื้นที่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม – มกราคม) ของทางภาคใต้ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ในระยะแรกไม่พบข้อร้องเรียนของประชาชนใกล้เคียง

ในระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 เป็นช่วงที่มีฝนตกน้อยมาก ผู้รับจ้างต้องเร่งเปิดผิวดินและปรับปรุงพื้นที่บริเวณกว้างเพื่อเร่งงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา เนื่องจากในช่วงฤดูฝนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนงานที่กำหนด มีการขนย้ายดินขุดและดินถมภายในพื้นที่โครงการประกอบกับช่วงเวลามีลมจากทิศตะวันออกพัดแรงเกือบตลอดวัน ผู้รับจ้างได้เพิ่มรอบการพรมน้ำจากมาตรการที่กำหนด แต่ยังคงพบว่ามีฝุ่นฟุ้งกระจายบ้างในบางเวลา เป็นเหตุให้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ได้มีประชาชนหมู่ที่ 9 บ้านทุ่งหวัง (ด้านทิศตะวันตก) ได้ร้องเรียนต่อผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ทางโทรศัพท์ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ต่อมา  ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง ได้นำผู้รับจ้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างลงพื้นที่พบปะหารือกับประชาชนบริเวณที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยได้ตกลงกันว่า ท่าอากาศยานตรังและ   ผู้รับจ้างจะต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ดังนี้

1) ฉีดสเปรย์น้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง ทุก ๑ ชั่วโมง

2) จำกัดความเร็วรถ ๓๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ตลอดการทำงาน

3) จัดให้มีการกั้นสแลนเพิ่มเป็น 2 ชั้นตลอดแนวรั้ว เพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจายออกนอกเขตการก่อสร้าง ซึ่งหลังจากที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามข้อตกลงแล้ว ไม่พบว่ามี.    ประชาชนร้องเรียนเพิ่มเติม ประกอบกับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เริ่มเข้าฤดูฝน มีฝนตกบ่อย

ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองตรังได้ประสานงานเทศบาลตำบลโคกหล่อ ซึ่งมอบหมายให้
กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ร่วมกันทันที เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้ลงพื้นที่เยี่ยมคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงและได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียงบ้านหลังดังกล่าวว่าเกิดฝุ่นละอองจากการถมดิน ขนส่งดิน ปรับพื้นที่บริเวณก่อสร้างสนามบินตรัง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น ทั้งด้านสุขภาพ รวมถึงผู้ป่วยติดเตียงและกิจวัตรประจำวันในพื้นที่ดังกล่าว

เทศบาลตำบลโคกหล่อได้ดำเนินการตรวจแนะนำ และออกคำสั่งตามแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข โดยได้จัดรถน้ำฉีดพ่นบริเวณก่อสร้าง โดยเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นน้ำให้มากขึ้น  พร้อมทั้งจัดทำสแลนกันฝุ่น บริเวณก่อสร้างให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีผลกระทบกับประชาชน และให้ลดความเร็วของรถขนส่งดินบริเวณก่อสร้าง เพื่อลดการเกิดฝุ่น ฟุ้งกระจาย

ภายหลังเทศบาลตำบลโคกหล่อ ได้ติดตามตรวจสอบจากการสอบถามประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลว่าผลกระทบจากฝุ่นละอองในการขน การถมดินน้อยลง เนื่องจากศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองตรัง ร่วมกับกองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลโคกหล่อ ได้ลงพื้นที่ตามที่มีประชาชนร้องเรียนเหตุรำคาญเรื่องฝุ่นละออง โดยพบกับตัวแทนผู้รับจ้างของบริษัทฯ รับเหมาก่อสร้างและได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในละแวกดังกล่าว เช่น ฉีดพ่นน้ำ การติดตั้งสแลนรอบรั้วสถานที่ก่อสร้าง เป็นต้น

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประสานผู้ร้องเรียนทางโทรศัพท์ และได้อธิบายให้ผู้ร้องเรียนรับทราบ และได้อธิบายถึงขั้นตอนการดำเนินการของอำเภอเมืองตรัง ท่าอากาศยานตรัง และเทศบาลตำบลโคกหล่อในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ผู้ร้องเรียนทราบ ซึ่งผู้ร้องเรียนรับทราบ และพอใจถึงการดำเนินการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน