ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแจงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

     ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแจงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมถึงข้อเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง เป็นการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่เอื้อต่อนายทุนและผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

     ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) กล่าวถึงกรณีการกล่าวอ้างข้อมูลการแสดงความคิดเห็นหรือข้อห่วงกังวล เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ว่าเป็นการพิจารณาอย่างเร่งรีบจนผิดปกติ เป็นการเพิกถอนที่ดินในเขต อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ โดยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลที่ได้ที่ดินมาโดยการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอาจส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานหลุดพ้นจากความผิด โดยกล่าวอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

     ความเป็นมากรณีการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2554 และ 2561 ว่าได้รับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม และมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนโดยอาศัยเส้นแนวเขตที่บกพร่องคลาดเคลื่อน ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาพร้อมแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงแผนที่เพื่อจัดทำรูปแผนที่ที่ทับซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ ได้นำที่ดินที่มิได้มีสภาพเหมาะสม กล่าวคือ เป็นพื้นที่ชุมชน และป่าเสื่อมโทรมจากการให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามแก่เอกชน มากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อีกทั้งในการดำเนินการดังกล่าว รัฐมิได้เข้าสำรวจรังวัดพื้นที่จริง  ส่งผลให้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ซึ่งปรากฏหลักฐานการจัดตั้งหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่รัฐได้อพยพราษฎรที่อยู่อาศัยอย่างกระจัดกระจายในพื้นที่ป่าไม้มาอยู่รวมกันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยให้คำมั่นแก่ราษฎรว่า จะจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยทำกิน มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใช้ชื่อว่า “บ้านไทยสามัคคี” นอกจากนี้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวยังทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้นำพื้นที่ดังกล่าวไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกรมป่าไม้ ก็ได้ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และหน่วยงานด้านความมั่นคง สำรวจรังวัดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการแล้ว อีกทั้งยังทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินโครงการของรัฐ เพื่อความมั่นคงตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งภาครัฐได้ยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตมาโดยตลอด มิใช่เพิ่งมาเริ่มดำเนินการ

     โดยเมื่อปี พ.ศ. 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) แก้ไขปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกรมป่าไม้ก็ยอมรับว่า มีข้อผิดพลาดจริงและมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงแนวเขตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกระบวนการดังกล่าวส่วนราชการ ชุมชน และราษฎรในพื้นที่ ได้ดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังหลักเขตอุทยานแห่งชาติทับลานร่วมกันเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดเป็นเส้นแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีความถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง เป็นที่รับรู้และยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน มีทั้งการเพิกถอนและขยายเขตอุทยานแห่งชาติ เพียงแต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ จึงมิได้มีการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง และตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ยังคงยืนยันแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีหนังสือให้คำมั่นต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอน โดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543 กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 มิใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ เพียงแต่ยังไม่เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหา

     ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจากการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2524 จริง จึงได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านการสำรวจรังวัดร่วมกันของทุกภาคส่วนแล้ว และตราพระราชกฤษฎีกาให้เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมาย จากนั้นเมื่อเกิดความชัดเจนของแนวเขตที่ดินของรัฐแล้ว สำหรับพื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีสาระสำคัญ คือ

          1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

          2. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

          3. ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

     ขอย้ำว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง กระทำการเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมิได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ที่ถูกเพิกถอนมิได้มีสภาพเป็นป่าไม้สมบูรณ์มาตั้งแต่แรก การแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีทั้งการเพิกถอนพื้นที่ที่มิได้มีสภาพป่า (เขตชุมชน ที่ดินเกษตรกรรม สถานที่ราชการ และป่าเสื่อมโทรม จำนวน 273,310.22 ไร่) และขยายเขตพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ (110,172.95 ไร่) ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทับลาน  ดังนั้น ในภาพรวมจึงสูญเสียพื้นที่ป่า (ที่มิได้มีสภาพเป็นป่า) จำนวน 163,137.27 ไร่ นอกจากนี้การแก้ไขปรับปรุงแนวเขตยังทำให้แนวเขตที่ดินของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานเกิดความชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบริหารจัดการและดูแลรักษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการทุจริตหรือประพฤติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของแนวเขต โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลและงบประมาณอย่างเพียงพอ และเหมาะสมในการดูแลรักษาพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ตามความเป็นจริง และยังมีส่วนราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว

     ส่วนการกล่าวอ้างถึงเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลที่มิได้อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิมหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น ส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม หรือเข้ามาอยู่อาศัยทำกินโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากความเชื่อถือและไว้วางใจต่อนโยบาย โครงการ หรือการกระทำของรัฐในช่วงเวลาต่าง ๆ  ทั้งนี้ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐและสิ่งสาธารณูปโภค อันถือเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครอง อีกทั้งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย โดยพื้นที่ที่ถูกกันออกทั้งหมดล้วนแต่ยังคงเป็นที่ดินของรัฐ (เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) มิใช่การเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่บุคคล การใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำหนด ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดิน (ส.ป.ก.) ย่อมสามารถใช้มาตรการทางปกครองและทางอาญาในการดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้อยู่แล้ว

     ประเด็นสุดท้าย การตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน อันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร มิได้เกี่ยวข้องกับคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล (อำนาจตุลาการ) แต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดย่อมเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาต่อไป

     ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐ โดยการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐใหม่ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรับแบบบูรณาการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. กรมแผนที่ทหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินรัฐทุกหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มจังหวัด

     เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ครั้งที่ 1/2566เพื่อหาแนวทางสรุปผล เรื่อง การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ร่วมกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปมติดังนี้

          1. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

          2. เห็นชอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และกำหนดแนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

          3. เห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้กับประชาชนตามแนวทาง คทช. สำหรับพื้นที่ที่มีสภาพป่าที่ผนวกกลับประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

          4. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ส.ป.ก. ดำเนินการยืนยันหลักหมุดแนวเขต พ.ศ. 2543 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

     ทั้งนี้ จะนำเสนอมติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ให้ คทช. และคณะรัฐมนตรีรับทราบและมีมติต่อไป

     เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งผลการประชุมที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลกและสภาพพื้นที่ป่าไม้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

          2. เห็นชอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และกำหนดแนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

          3. เห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทาง คทช. หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมแล้วแต่กรณี โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และระเบียบ สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ผนวกประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

          4. เห็นชอบการดำเนินงานของภาครัฐในการประกาศหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการของภาครัฐ และหากประชาชนอยู่ในที่ดินของรัฐ ก็ควรเร่งรัดให้เกิดการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการที่ คทช. กำหนด

          5. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

     ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ณ ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นของที่ประชุม คทช. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น  ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และมติคณะรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้อง

     “ขอย้ำว่า คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานด้วยการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง ถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและบริบทเฉพาะของพื้นที่มากที่สุด โดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนรอบด้าน มีการหารือถึงผลดี ผลเสีย ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำนึงถึงข้อห่วงกังวลในด้านต่าง ๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะมีข้อเสนอแนะ โดยมิใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มบุคคลใด หากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม และดำเนินการโดยยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง”