การศึกษาปัญหาและผลกระทบของการทำประมงภายใต้กฎหมายประมง (กรณีหยิบยกเพื่อพิจารณา (Own Motion)

การทำประมงทะเลไทยภายใต้กฎหมายประมง ได้แก่ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติ เรือไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 รวมทั้งกฎระเบียบการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing)

สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎระเบียบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ประเทศที่จะส่งออกสินค้าประมงไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องจัดทำระบบเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงแบบ IUU อีกทั้งจะต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าประมง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ประกอบการส่งออกสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรปทุกครั้ง เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU)

สหภาพยุโรปได้ส่งคณะผู้แทนมาประเมินผลการติดตาม ตรวจสอบและรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมายและการดำเนินการภายใต้กฎระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่องประจำทุกปี

กรมประมงได้พยายามแก้ไขปัญหาและดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการทำการประมงของเรือประมงไทย เพื่อมิให้ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม แต่การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อภาคชาวประมง ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีแผนงานรองรับในการ     แก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง อาจส่งผลกระทบต่อการทำการประมงทะเลไทย ประกอบกับจากการหารือร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาการทำการประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะปัญหาในการนำเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ออกนอกระบบเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต่อมา ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) จึงมีข้อสั่งการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาและผลกระทบของการทำการประมงโดยเฉพาะการทำการประมงทะเลภายใต้กฎหมายประมง อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวต่อไป

ผลการดำเนินการ ให้ดำเนินการพิจารณาข้อร้องเรียนไปตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ต่อไป จากการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยการมีหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการทำการประมง จำนวน 23 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงแรงงาน และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยรวม 28 หน่วยงาน และการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสมาคมการประมง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัด สมุทรสาครและจังหวัดระยอง รวมถึงได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ครั้ง พบว่า ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ไม่มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย แต่เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติและเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน จึงมีการตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป การออกกฎหมายอย่างเร่งด่วนดังกล่าว    ทำให้ชาวประมงไม่สามารถปรับตัวเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวได้ จึงเกิดปัญหาและผลกระทบโดยตรงกับชาวประมง ซึ่งชาวประมงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเพื่อให้มีความสอดคล้องกับวิถีการทำการประมงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาในระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ปัญหาและผลกระทบของการทำประมงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ปัญหาและผลกระทบ
ของการทำการประมงพาณิชย์ และ (2) ปัญหาและผลกระทบของการทำการประมงพื้นบ้าน ปรากฏดังนี้

ปัญหาและผลกระทบของการทำประมงพาณิชย์

  1. 1. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายการประมงที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

 –  ขอให้พิจารณาทบทวน ปรับปรุง แก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับบทลงโทษ / โทษปรับทางกฎหมายที่รุนแรง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำประมง

ผู้ตรวจการแผ่นดินโดยการปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันตามมาตรา 26 (3)
มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการดังนี้

  1. 1. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับอัตราโทษปรับซึ่งควรกำหนดอัตราโทษปรับตามขนาดของเรือให้มีอัตราโทษปรับที่ลดลง อาทิเช่น อัตราโทษกรณีหน้าที่ให้เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ประเภทการใช้ทำการประมงและมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ เช่น ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา จัดทำสมุดบันทึกการทำประมง แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง
    ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก จัดทำเครื่องหมายประจำเรือ และกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์ (มาตรา 81) การยื่นเอกสารที่เกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ ต่อเจ้าหน้าที่ก่อนนำเรือประมงออกจากท่า (มาตรา 82) เพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
  2. 2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดคณะกรรมการเปรียบเทียบ และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการเปรียบเทียบ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ

  –  ขอให้พิจารณาทบทวน ปรับปรุง ยกเลิกกฎหมายลำดับรองที่มีจำนวนมาก พร้อมทั้ง  ให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากฎหมาย กฎ ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมงมีจำนวนมากกว่า 300 ฉบับ เห็นควรให้ศึกษา รวบรวม จัดกลุ่มหัวข้อของกฎหมายลำดับรอง ยกเลิกกฎหมายลำดับรองในเรื่องเดียวกันและนำมาจัดทำเป็นกฎหมายฉบับใหม่ให้อยู่ในฉบับเดียวกัน และจัดทำคู่มืออธิบายกฎหมายพร้อมทั้งข้ออ้างอิง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ สื่อต่าง ๆ และช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ชาวประมงและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมงให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ขอให้พิจารณาศึกษา รวบรวม จัดกลุ่มหัวข้อของกฎหมายลำดับรอง เพื่อพิจารณายกเลิกกฎหมายลำดับรองในเรื่องเดียวกันนำมาร่างเป็นกฎหมายลำดับรองให้อยู่ในฉบับเดียว โดยให้มีการดำเนินการตามตัวอย่างเช่นเดียวกันกับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อมูลล่วงหน้าและกำหนดท่าเทียบเรือของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ซึ่งได้มีการพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อมูลล่วงหน้าและกำหนดท่าเทียบเรือของประประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 1 และยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อมูลล่วงหน้าและกำหนดท่าเทียบเรือของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นต้น รวมทั้งตามแนวทางการดำเนินการในส่วนของประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงและดูแลรักษาระบบติดตามเรือประมงของเรือประมงพาณิชย์ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา พ.ศ. 2563 (vms) ซึ่งเป็นการดำเนินการแก้ไขกฎหมายในลักษณะเดียวกัน
  2. ขอให้จัดทำคู่มืออธิบายกฎหมาย พร้อมทั้งข้ออ้างอิงของกฎหมายลำดับรองในเรื่องนั้น ๆ เช่น คู่มือการออกใบรับรองซากเพื่อการส่งออก คู่มือการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมง คู่มือชาวประมงพาณิชย์ เป็นต้น และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ชาวประมงได้รับทราบ รวมทั้งใช้ศึกษาทำความเข้าใจได้ง่ายต่อไปตามแนวทางที่กรมประมงดำเนินการ
  3. อธิบาย ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่หน่วยงาน ชาวประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมตลอดถึงการจัดฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพในปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบเรือที่ต้องสงสัยว่ามีการกระทำความผิดโดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) ในทะเล ตามแนวทางที่กรมประมงได้ดำเนินการ

–  ขอให้พิจารณาขั้นตอนการออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยให้กรมประมงเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย

ปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการอนุญาตให้กับเรือประมงที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยหลังจากใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุและเรือประมงอยู่ที่ท่าเทียบเรือได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ  22  – 33 วัน ซึ่งกรมประมงจะจัดประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการให้ชาวประมงทราบผ่านทางสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เว็บไซต์ ของกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ (หน่วยรับคำขอ) และผ่านเว็บไซต์ระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (คู่มือประชาชน) แล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวตามกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตให้ทำการประมง พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยใช้ระยะเวลาในการอนุญาตภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน หรือหลังจากใบอนุญาตฉบับปัจจุบันสิ้นอายุและเรือประมงอยู่ที่ท่าเทียบเรือประเทศไทยด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อเรียกร้องจากชาวประมง

– ปัญหาความต้องการร่วม (ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน) ขอให้กำหนดเขตทะเลชายฝั่งเพื่อการทำการประมงและจัดทำข้อตกลงในการใช้พื้นที่ทางทะเลร่วมกัน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการประกอบอาชีพระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ รวมถึงระหว่างกลุ่มที่ปฏิบัติตามกฎหมายการประมงและผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2565 และกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง รายจังหวัด 23 จังหวัดชายทะเล ได้ผ่านการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ซึ่งหากจังหวัดใดประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตทะเลชายฝั่งเพื่อบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและดำเนินการ ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดและคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมงด้วย

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกรมประมง คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง ให้พิจารณาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการใช้พื้นที่ทางทะเลในการทำการประมงจากประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

– ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผลกระทบต่อวิถีการประมงแบบดั้งเดิมที่ทำให้ชาวประมงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีการทำการประมง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและกรมประมงให้ดำเนินการดังนี้

  1. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงและประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
  2. ให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างรอบด้านและทั่วถึงก่อนที่จะมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการประมงเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป
  3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

–  ขอให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งปี หรือปีละ 2 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคกิจการประมงทะเล และนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในเรือประมงมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถลดจำนวนการใช้แรงงานหรือทดแทนแรงงานประมงได้บางส่วน

กรมประมงได้หาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 83 แห่ง พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือ ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ 2565 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถ ยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล พ.ศ. 2565 เป็นผลให้ (1) คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน สามารถ ยื่นขอรับหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 กรณีพิเศษเดิมได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน และ (2) คนต่างด้าว ที่เข้ามาโดยกระบวนการ MOU และยื่นขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานจะสามารถยื่นคำขอรับหนังสือ
คนประจำเรือได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งได้ทดลองนำเทคโนโลยี power box เข้ามาใช้แทนแรงงาน พร้อมทั้ง ให้ความรู้กับชาวประมง และตั้งโรงเรียนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่ออบรมให้กับชาวประมงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกรมประมงและกระทรวงแรงงานให้ดำเนินการดังนี้

  1. การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ขอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้มีการนำเข้าแรงงานภาคประมงตาม MOU เพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ไขการขาดแคลนแรงงานภาคประมง โดยขอให้คำนึงถึงข้อกำหนดในด้านความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ รวมถึงควรชี้แจง ทำความเข้าใจให้กับชาวประมงได้รับทราบถึงข้อขัดข้อง
    จากทางประเทศเพื่อนบ้าน
  2. การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังนี้

2.1 เสนอแนะให้กรมประมงและกระทรวงแรงงานพิจารณานำเครื่องมือช่วยทุ่นแรงงานภาคประมง ยกระดับแรงงานอาชีพประมง และสร้างแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานต่างด้าวสนใจทำงานในภาคประมงเพิ่มมากขึ้น โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำการประมงในด้านต่าง ๆ รวมถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินการดังกล่าว ตามแนวทางที่กรมประมงได้ดำเนินการ เช่น โครงการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนล้อมจับโดยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทุ่นแรงที่เหมาะสมเพื่อศึกษาผลการติดตั้งเครื่องกว้านแบบ Power block ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สามารถลดจำนวนแรงงานประมงซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บกู้อวนลงได้ถึงร้อยละ 25.6 ต่อเที่ยวการออกไปทำการประมง  และการสร้างโมเดลเรือฝึก “ปลาลัง” ซึ่งเดิมเป็นเรือประมงอวนล้อมจับและได้รับการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง เพื่อช่วยลดต้นทุน ด้านแรงงานประมง

2.2 เสนอแนะให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนหรือสถาบันฝึกสอนการทำการประมงเพื่อเป็นการยกระดับอาชีพและภาพลักษณ์ของอาชีพประมง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงได้รับทราบ

 –  ขอให้ภาครัฐผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในเรือประมงสามารถจดทะเบียนเข้ามาทำงานได้ตลอดทั้งปี กำหนดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภาคประมงให้มีความชัดเจนและกำหนดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เพื่อเป็นการลดต้นทุนของชาวประมง

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงและกรมการจัดหางานพิจารณาปรับปรุงกระบวนการออกหนังสือคนประจำเรือและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้างอีกทางหนึ่ง

  1. ปัญหาวันทำประมงไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

 –  ขอให้เพิ่มวันทำการประมงจาก 240 วัน เป็น 320 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำการประมง

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกรมประมงให้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่า MSY โดยมีความเห็นของนักวิชาการที่มีความรู้ ความเข้าใจและเป็นที่ยอมรับเพื่อข้อมูลกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคิดค่า MSY และการพิจารณาให้ความเห็นชอบค่า MSY ซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดวันทำการประมงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกรมประมงและชาวประมง

–  ขอให้นับวันทำการประมงจากวันที่เริ่มปล่อยอวนลงน้ำเพื่อจับสัตว์น้ำ ไม่ใช่นับวันที่เรือออกจากท่าตามระเบียบของการทำการประมงนอกน่านน้ำในเขตมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) เนื่องจากเรือประมงออกทะเลอาจต้องเจอมรสุม

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกรมประมงให้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับการนับเวลาเริ่มต้น การนับเวลาสิ้นสุด และการนับวันทำการประมงให้แก่ชาวประมงทราบต่อไป

  1. ปัญหาการนำเรือประมงที่ถือธงต่างประเทศ (มาเลเซีย) กลับเข้ามาซ่อมใประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

–  ขอให้แก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 95 วรรคห้า และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อมูลล่วงหน้าและกำหนดท่าเทียบเรือของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 (2) ขอให้เจรจากับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อให้สามารถนำเรือประมงสัญชาติมาเลเซีย เข้ามาซ่อมแซมในประเทศไทยได้ เพื่อให้เรือประมงที่ถือธงต่างประเทศ (มาเลเซีย) สามารถเข้ามาซ่อมแซมที่ประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้กิจการต่อเนื่องสามารถดำเนินการต่อไปได้และเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนด้วย

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า กฎหมายไทยมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้เรือประมงที่ถือธงสัญชาติมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใด หากจะเข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทย เรือประมงที่ถือธงสัญชาติมาเลเซียดังกล่าว จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงของประเทศมาเลเซียก่อน เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาเข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทยต่อไป

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับนโยบายของประเทศมาเลเซีย กรณีการนำเรือประมงที่ถือธงประเทศมาเลเซียกลับเข้ามาซ่อมในประเทศไทยให้แก่ชาวประมงทราบต่อไป

ขอให้เจรจากับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อให้สามารถนำเรือประมงสัญชาติมาเลเซีย เข้ามาซ่อมแซมในประเทศไทยได้

ประเทศไทยโดยกรมประมงได้เจรจากับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อให้สามารถนำเรือประมงสัญชาติมาเลเซียเข้ามาซ่อมในประเทศไทย โดยได้มีการยกระดับการหารือร่วมกันประเด็นปัญหานี้ในระดับกระทรวงของทั้งสองประเทศแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเจรจาและผลักดันให้เกิดความร่วมมือระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ผ่าน MOU เพื่อให้สามารถนำเรือประมงสัญชาติมาเลเซีย เข้ามาซ่อมแซมในประเทศไทยได้ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนผลักดันให้มีการเจรจาดังกล่าว

  1. ปัญหาการซื้อเรือออกนอกระบบล่าช้า ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

–  ขอให้เร่งผลักดันโครงการซื้อเรือคืน ระยะที่ 2 จำนวน 75 ลำ โดยใช้งบกลาง

คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 38/2565 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565  ได้อนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรทางประมงทะเลที่ยั่งยืนระยะที่สอง และคณะทำงานจ่ายเงินเยียวยาเรือประมงได้เห็นชอบสัญญาเงินเยียวยาเรือประมงภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อเสนอให้กรมประมงดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเรือประมง งวดที่ 1 จำนวน 53 ลำ และอยู่ระหว่างตรวจเอกสารเบิกจ่ายเงินเยียวยา งวดที่ 2 ร้อยละ 70 จำนวน 2 ลำ ส่วนที่เหลือต้องรอให้เจ้าของเรือรื้อทำลายเรือและนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะทำงานจ่ายเงินเยียวยาเรือประมงพิจารณาต่อไปแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงเร่งรัดพิจารณาเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน งวดที่ 2 ของเรือที่เหลืออีกจำนวน 51 ลำแล้ว เพื่อที่จะได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดที่ 2 ให้กับเจ้าของเรือประมงต่อไป

– ขอให้เร่งผลักดันโครงการซื้อเรือประมง (กลุ่มที่ 2) ที่แจ้งความประสงค์ออกนอกระบบ (ประสงค์จะเลิกอาชีพประมง) รวมจำนวน 2,505 ลำ                         

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า เรือกลุ่ม นรบ. 01 บางส่วน (ไม่ผ่านเกณฑ์ตามกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 2) รวมอยู่กับกลุ่มเรือที่แจ้งความประสงค์ออกนอกระบบ (นรบ. 02) จำนวน 2,505 ลำ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติมอบหมายให้กรมประมงดำเนินการพิจารณาทบทวนความเหมาะสม   ความคุ้มค่า และงบประมาณประมาณจำนวน 5 พันล้านบาท และให้กรมประมงทำหนังสือไปยังหน่วยงานประมงประจำภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ชาวประมงยืนยันว่ายังคงมีความประสงค์ที่จะเลิกอาชีพประมงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการสำรวจเรือประมงและยืนยันจำนวนเรือประมง โดยคณะทำงานกลั่นกรองการเยียวยาและดำเนินการตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน พิจารณาเห็นชอบเรือประมงที่นำเข้าโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ จำนวน 1,776 ลำ แล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงเร่งรัดพิจารณาดำเนินการเสนอโครงการซื้อเรือคืนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งเร่งรัด ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการโครงการซื้อเรือคืนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ปัญหาและผลกระทบของการทำการประมงพื้นบ้าน

  1. ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

–  ขอให้แก้ไขปัญหาเรื่องการอนุรักษ์หรืออนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ การขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดความจริงจังและความต่อเนื่องในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงปัญหาการที่ไม่มีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน ชุมชน และงบประมาณสนับสนุนในการจัดหาลูกพันธุ์สัตว์น้ำ วัสดุอุปกรณ์ และฝึกอบรม

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังนี้

  1. 1. ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมประมงและกรมทรัพยากร
    ทางทะเลและชายฝั่ง ให้เพียงพอต่อการดำเนินโครงการสนับสนุนขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตามมาตรา 25 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และโครงการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเพียงพอและทั่วถึง
  2. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมประมงให้เพียงพอแก่การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ โดยขอให้กรมประมงพิจารณาขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลให้ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พื้นที่ทำการประมงพื้นบ้าน พื้นที่ทำการประมงพาณิชย์ และสนับสนุนให้ชุมชนมีธนาคารสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประมงพื้นบ้านและกลุ่มประมงพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งขอให้กรมประมงพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทุกชุมชนให้มีความทั่วถึงและเพิ่มจำนวนงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินการของแต่ละชุมชน
  3. ขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริมชุมชนบริเวณชายฝั่งในการเสนอโครงการอนุรักษ์พื้นที่ รวมทั้งพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ให้เพียงพอต่อการดำเนินโครงการ
  4. ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ และส่งเสริมการดำเนินการของชุมชนบริเวณชายฝั่ง

 –  ขอให้แก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันดำเนินการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันมิให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลและรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนต่อไป

–   ขอให้แก้ไขปัญหาป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่งและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการอาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่งเพื่อลดการบุกรุกป่าชายเลน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมปลูกและอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ความดูแลรับผิดชอบให้เพิ่มมากขึ้น

– ปัญหาการใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ ชาวประมงพื้นบ้านมีข้อเรียกร้อง  โดยขอให้กำหนดพื้นที่การทำการประมงของเรือประเภทที่ใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูง เพื่อไม่ให้กระทบสัตว์น้ำวัยอ่อน

   การกำหนดเขตทะเลชายฝั่งในแต่ละจังหวัดจะเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง รายจังหวัด ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 โดยกระบวนการในการออกกฎกระทรวงดังกล่าวในเขตทะเลชายฝั่งจะกำหนดห้ามมิให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง โดยกรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือชาวประมงในการร่วมกันดูแลและรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะในฤดู            มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวในวัยอ่อน รวมทั้งมีการติดตามและเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ให้ชี้แจงประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและขอให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาในประเด็นการใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ

  1. ปัญหาการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ชาวประมง โดยขอให้ลดขั้นตอนการให้สินเชื่อและหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ยืมเงิน พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะโครงการสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ชาวประมงเป็นไปตามที่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อกำหนด กรมประมงไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณาให้สินเชื่อธนาคารได้ และมิใช่อำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ที่ผ่านมากรมประมงดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและกรมประมง พิจารณาจัดให้มีโครงการการ  ให้สินเชื่อแก่ชาวประมงอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวประมงให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

  1. ปัญหาการให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมอาชีพในช่วงที่ไม่สามารถทำการประมง โดยส่งเสริมการประกอบอาชีพต่อเนื่องประมงหรืออาชีพเสริม

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงมรสุมชาวประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวประมง ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการผลิต ด้านการประมง และโครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการแปรรูปสัตว์น้ำแก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้แล้ว โดยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ แล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กรมประมงและกระทรวงแรงงานส่งเสริมความรู้และสนับสนุนงบประมาณให้แก่ชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงมีอาชีพสำรองเพื่อหาเลี้ยงชีพ เช่น การแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าประมง การปรับเปลี่ยนให้ชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น เพื่อให้การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวประมงในช่วงที่ชาวประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้

ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (3) กระทรวงแรงงาน (4) กระทรวงการต่างประเทศ (5) กรมประมง (6) กรมการจัดหางาน (7) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (8) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ (9) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

—————————————————-