องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาคำร้องเรียนล่าช้า กรณีการก่อสร้างต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ร้องเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีบ้านข้างเคียงได้มีการก่อสร้างชิดแนวรั้วและมีบางส่วนยื่นล้ำเข้ามาในรั้วบ้านผู้ร้องเรียน ผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นคำร้องไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ให้ตรวจสอบว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารของบ้านใกล้เคียงนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 50  หรือไม่  เนื่องจากบ้านใกล้เคียงที่ติดกับบ้านของผู้ร้องเรียนได้ก่อสร้างบ้านติดรั้ว แต่ไม่ติดรางน้ำแนวหลังคาบ้าน ทําให้เมื่อเวลาฝนตกน้ำที่ไหลลงมาจากหลังคาของบ้านใกล้เคียงไหลตกเข้ามาในรั้วบ้านผู้ร้องเรียน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่ไม่ได้รายงานความคืบหน้าและแจ้งผลการตรวจสอบความถูกต้อง หรือแจ้งให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้ผู้ร้องเรียนทราบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีหนังสือไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า องค์การบริหารส่วนตําบลดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบบ้านผู้ถูกร้องเรียน โดยวัดระยะห่างจากเสาปูนบ้านชั้นแรก ถึงรั้วแนวเขตบ้านผู้ร้องเรียน โดยมีระยะห่างประมาณ 2.70 เมตร และความสูงของตัวบ้านประมาณ 9 เมตร หากวัดจากพื้นบ้านถึงรางน้ำฝนจะมีความสูงประมาณ 6 เมตร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 50 กำหนดให้อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดิน ไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้องทั้งได้ประสานให้
เจ้าของบ้านใกล้เคียงคู่กรณีมาดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 5 แล้ว

ส่วนกรณีการก่อสร้างบ้านติดรั้ว แต่ไม่ติดรางน้ำแนวหลังคาบ้าน ซึ่งทำให้เมื่อเวลาฝนตกน้ำที่ไหลลงมาจากหลังคาบ้านคูกรณีได้ไหลตกลงมาในรั้วบ้านของผู้ร้องเรียน และบริเวณแนวเขตรั้วบ้านของผู้ร้องเรียนมีหลังคาบ้านของคู่กรณีสร้างกําแพงยื่นเข้ามา ซึ่งในกรณีนี้องค์การบริหารส่วนตําบลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยให้คู่กรณีดำเนินการติดตั้งรางน้ำฝนและได้รื้อถอนหลังคาส่วนที่ล้ำเข้ามาออกนอกแนวเขตรั้วบ้านของผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว และได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ทางอำเภอในพื้นที่ทราบแล้วด้วย

ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนอย่างเหมาะสมแล้วตามมาตรา 37 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560         จึงวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียน และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป