ผู้ตรวจการแผ่นดินเดินหน้าติดตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดหนองบัวลำภู

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 – หนองบัวลำภู นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนางสาวคมขวัญ กาญจนกุญชร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ในฐานะประธานคณะกรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวต้อนรับ พร้อมรายงานข้อมูลโครงการฯ และ มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดหนองบัวลำภู และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานหนองบัวลำภู

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 จังหวัดหนองบัวลำภู มีนักเรียนที่เข้าฝึกอบรม จำนวน 44 คน จบฝึกอบรม จำนวน 33 คน และมีงานทำ จำนวน 14 คน สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ได้จัดประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยกำหนดหลักสูตรที่เปิดสอน 4 หลักสูตร คือ ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ช่างตรวจเช็คระยะรถยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร และช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ มีนักเรียนเข้าฝึกอบรม จำนวน 40 คน ซึ่งมาจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู 3 คน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู 17 คน และผู้สมัครทั่วไป 20 คน โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 29 คน และรับการ เข้าฝึกประสบการณ์ (ฝากฝึก) ในสถานประกอบการ จำนวน 24 คน ซึ่งสถานประกอบกิจการรับเข้าทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 6 คน จากความทุ่มเทของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้นักเรียนที่อบรมหลักสูตรนี้ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีฐานะเป็น “แรงงานมีฝีมือ” มีรายได้ค่าจ้างที่ดี สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ผ่านการฝึกทักษะอาชีพที่เข้ารับการฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการต่าง ๆ จนได้รับการจ้างงานต่อที่ บริษัท อุดร ช.ทวี (ฮีโน่) จำกัด จำนวน 2 คน และ อู่ช่างน้อย จำนวน 1 คน ซึ่งพบว่า นอกจากนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีประสิทธิภาพในการทำงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่านักเรียนที่มีประวัติติดสารเสพติดสามารถเลิกเสพยาเสพติดและหันมาประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย