ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชา น.461 หลักวิชาชีพนักกฎหมาย ได้จัดทำโครงงานกลุ่มในหัวข้อ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ผู้ถูกกล่าวหา” โดยศึกษาระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มีความเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลง  ในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษา ยกฟ้องก็ไม่ได้นำเอารายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระความเดือดร้อนแก่ประชาชนมากเกินสมควรแก่เหตุ ดังนั้น จึงร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้นแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเรียนนี้ เป็นกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (1) พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดเกี่ยวกับหน้าที่ ของพนักงานสอบสวน หน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร หน้าที่ของศูนย์พิสูจน์หลักฐานและพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลต่าง ๆ และศพ กำหนดวิธีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ขออนุญาต ผู้ขอสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และรายการประวัติหรือบัญชีประวัติ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง เสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2564

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือรายงานผลการดำเนินการตามผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยสรุปได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ได้ปรับปรุงเนื้อหาเรื่องการคัดแยกและถอนประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดอาญาและสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดทะเบียนในการจัดเก็บ เปิดเผยประวัติในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ออกเป็น 3 ทะเบียน โดยแต่ละทะเบียนมีลักษณะ ดังนี้

ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิดที่เป็นคดีอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยห้ามมิให้เปิดเผยทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพื่อประโยชน์ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภารกิจคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน เพื่อใช้ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การสืบสวน
การสอบสวน การรักษาความปลอดภัยของทางราชการ และการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม และในกรณีที่มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหน่วยงานใดต้องการประวัติผู้ต้องหา เพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร

ทะเบียนประวัติอาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญา โดยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาท เป็นทะเบียนที่เปิดเผยได้

ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในคดีอาญาโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ หรือรอการกำหนดโทษ หรือลงโทษกักขัง หรือลงโทษปรับสถานเดียว รวมถึงเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาท โดยไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเป็นการให้ข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในกรณีของการกระทำความผิดซ้ำซาก การประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ หรือกรณีอื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

นอกจากนี้ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ยังกำหนดให้มีการคัดแยกและถอนประวัติให้กับบุคคลที่มีประวัติจัดเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 6.3
ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้พิจารณาคัดแยกและถอนแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และรายการประวัติหรือบัญชีประวัติของบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิด
ที่มิใช่อาชญากร ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลในคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง ให้ถอนชื่อและประวัติออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา

(2) มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดอีกต่อไป

(3) ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

(4) ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ได้รับการนิรโทษกรรม

(5) ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญาและได้รับการอภัยโทษหรือได้รับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทิน ให้ถอนชื่อและประวัติออกจากทะเบียนประวัติ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับการอภัยโทษหรือมีกฎหมายล้างมลทิน และยกเว้นข้อหาที่ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด

(6) ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญา ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีก ให้ถอนชื่อและประวัติออกจากทะเบียนประวัติเมื่อพ้นระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด และยกเว้นข้อหาที่ผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด

(7) ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(8) เมื่อมีคำพิพากษาของศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด

(9) แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลที่ไม่ได้นำตัวมาดำเนินคดีจนคดีขาดอายุความ

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถขอดูข้อมูลข่าวสาร ส่วนบุคคลและตรวจสอบประวัติอาชญากรด้วยชื่อ ชื่อสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ www.crd-check.com ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย

และข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป ซึ่งระเบียบ ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

3.1 บทที่ 1 บททั่วไป ได้กำหนดบทนิยามไว้ให้มีทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร ซึ่งเป็นการแยกทะเบียนประวัติผู้ต้องหาออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว

3.2 บทที่ 4 การคัดแยกและถอนประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร ข้อ 4 และข้อ 5 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะ
ไม่เปิดเผยหรือคัดแยกข้อมูลประวัติอาชญากรไว้ในหลายกรณีด้วยกัน เช่น กรณีผู้กระทำความผิดเป็นเด็กและเยาวชน กรณีศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน พิพากษาจำคุกแต่รอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ มีโทษกักขังหรือปรับสถานเดียว หรือกระทำความผิดโดยประมาท เป็นต้น

3.3 บทที่ 4 การคัดแยกและถอนประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากรข้อ 1 กำหนดหลักการห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญาที่บันทึกอยู่ในทะเบียนประวัติผู้ต้องหา เว้นแต่เพื่อประโยชน์ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรณีอื่น ๆ ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายอนุญาตให้ตรวจสอบได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยทางวิชาการ ทางอาชญาวิทยา หรือทางการแพทย์ เป็นเต้น

3.4 บทที่ 2 การปฏิบัติเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้รับการอบรมและศพ ข้อ 1.7 กำหนดให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงาน แจ้งผลคดีถึงที่สุดส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร โดยระเบียบข้อดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลารายงานผลคดีถึงที่สุดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจพิจารณาแล้วเห็นว่าการไม่กำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ มีความเหมาะสมมากกว่า

พร้อมกันนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือแจ้งผลการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงผู้ร้องเรียนเพื่อทราบต่อไป