สผผ. ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย การจัดทำนโยบาย การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย

     เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 น. นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปรึกษาคณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ 170/2565 พร้อมด้วยนางนุจรีย์ ศรีภูธร ผู้อำนวยการส่วนสอบสวน 2 คณะทำงานและเลขานุการ และคณะทำงานโครงการศึกษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย การจัดทำนโยบาย การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะโครงการศึกษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย โดยคณะทำงานเข้าเยี่ยมชมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ซึ่งได้รับรางวัลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประจำปี 2565 ระดับยอดเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 อาคาร 2 ชั้น 2 ในการนี้ นายอำนาจ สุทิน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 และคณะ ให้การต้อนรับ และนำเสนอนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ซึ่งดำเนินงานผ่านเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา และมีการนิเทศก์ ติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ รวมทั้งยกย่องเชิดชูโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น

     จากนั้น คณะทำงานได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาต้นแบบ ประกอบด้วย 1) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 8 ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีระบบดูแลช่วยเหลือที่น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาใช้ โดยสำนึกในพระราชดำรัสที่ว่า “เป็นครูใช่ไหม ตัวฉันอยู่ไกล ฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ ช่วยสอนให้เขาเป็นคนดี” จึงเป็นที่มาของ “Takecare Model” รวมทั้งยังมีการฝึกอาชีพของนักเรียนที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2) โรงเรียนปทุมานุกูล ซึ่งเด็กนักเรียนมาจากหลากหลายอำเภอ ระบบดูแลช่วยเหลือจากครูจึงไม่เพียงพอ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียน รวมทั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากท้องถิ่นที่ช่วยในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และดำเนินงานโดยอาศัยภาคีเครือข่าย จนเกิดเป็น “Revise 2023 PATUMA Model” 3) โรงเรียนบ้านในถุ้ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เด็กนักเรียนมาจากครอบครัวยากจน ไม่มีอาหารเช้ารับประทาน อันอาจเป็นภัยจากภาวะทุพโภชนาการ โรงเรียนจึงมีโครงการพัฒนาพฤติกรรมผู้ปกครองให้จัดอาหารให้เด็กปฐมวัย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ปกครอง ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ และ 4) โรงเรียนบ้านทุ่งเกราะ มีการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อให้เด็กปฐมวัยสามารถออกสู่โลกภายนอก อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และนักเรียนออกจากระบบโรงเรียนลดลง จึงมีโครงการภาษารัก และการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ โดยใช้ความเข็มแข็งของภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการ

     ทั้งนี้ นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปรึกษาคณะทำงาน ได้กล่าวชื่มชม พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการขยายผลความสำเร็จไปยังโรงเรียนและหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย

     และในวันเวลาเดียวกัน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 2
หัวหน้าคณะทำงานโครงการศึกษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ผู้อำนวยการกองการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนางสาวกาญจนา บุบผัน ครูชำนาญการรักษาการแทนผู้อำนวยการ คณะครู โรงเรียนวัดเขาพนมไตรรัตน์และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย สรุปความได้ว่า โรงเรียนวัดเขาพนมไตรรัตน์และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย มีการจัดทำแผนและมาตรการการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรการการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษาระดับปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

     จากการตรวจเยี่ยมสภาพแวดล้อมโดยรอบ พบว่าโรงเรียนวัดเขาพนมไตรรัตน์และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลกลายสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแบบยั่งยืน ผู้บริหารและบุคลากรทางศึกษาสามารถปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมีเครือข่ายที่เข้มแข็งภายในชุมชนเพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาความรุนแรงและสร้างมาตรการเพื่อความปลอดภัยแบบยั่งยืน