สผผ. ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ณ โรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัยอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปรึกษาคณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ 170/2565 พร้อมด้วยนายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 2 หัวหน้าคณะทำงาน นางนุจรีย์ ศรีภูธร ผู้อำนวยการส่วนสอบสวน 2 คณะทำงานและเลขานุการ และคณะทำงานโครงการศึกษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ณ โรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัยอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โรงเรียนเอกชน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร.ณวิชญ์ ชินบุรารัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัย ดร.ปุณณพร ชินบุรารัตน์ ผู้จัดการโรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัย นางสาวจิรัญ ชินบุรารัตน์ รองผู้จัดการโรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัย และคณะ ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้าน “ความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย” โดยโรงเรียนภูบดินทร์พิทยาลัยดำเนินการตาม “คู่มือการดำเนินงานความปลอดภัยสถานศึกษา” ของกระทรวงศึกษาธิการ และนำนวัตกรรม “THE CODE MODEL” มาใช้ในการสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งคำว่า CODE มีความหมาย ดังนี้ C ย่อมาจาก CONSCIOUS คือ การสอนให้มีสติ O ย่อมาจาก OPPONENT คือ การสอนให้รู้จักภัย D ย่อมาจาก DEVELOPMENT คือ การพัฒนาตน/พัฒนาความรู้ในเรื่องการเอาตัวรอด และ E ย่อมาจาก EXPERIENCE คือ การลงมือปฏิบัติจนเป็นประสบการณ์ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยในภัยรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงหลัก 3P คือลักษณะทางกายภาพของแต่ละโรงเรียน ระบบและรูปแบบการดำเนินการ และระบบคน ประกอบด้วย 9 CODE จำแนกตามสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น CODE 3 คือคำสั่ง “ซ่อนตัวอย่างเงียบที่สุดและเร็วที่สุด (เก็บเด็กนักเรียน)” ใช้เมื่อเกิดความผิดปกติในระดับรุนแรงและสามารถส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลากร นักเรียนและผู้ปกครองในโรงเรียน หรือ CODE 4 คือคำสั่ง “อพยพ” ใช้เมื่อเห็นความผิดปกติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำมาตราการ “เก็บ กัน แก้” ซึ่งเป็นมาตรการความปลอดภัยที่มีความเหมาะสมกับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับปฐมวัยมาใช้อีกด้วย จากนั้น คณะทำงานฯ ได้เยี่ยมชมการจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบของโรงเรียนและห้องเรียนระดับปฐมวัยของโรงเรียน และในวันเดียวกัน เวลา 13.30 น.นายกมลธรรม  วาสบุญมา  รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นายเมธี  มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 2 หัวหน้าคณะทำงานฯ นางนุจรีย์  ศรีภูธร ผู้อำนวยการส่วนสอบสวน 2 คณะทำงานและเลขานุการ และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ร่วมกับ
นายกเทศมนตรีเมืองหลังสวน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดประสาทนิกร หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดประสาทนิกร คณะครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สรุปความได้ว่า โรงเรียนวัดประสาทนิกรและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดประสาทนิกร ได้ดำเนินการภายใต้คู่มือการดำเนินงานความปลอดภัยสถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและ มาตรการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ได้แก่ แผนเผชิญเหตุเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษา รณรงค์ต่อต้านยาเสพติดและ บุหรี่ รณรงค์สวมหมวกนิรภัย อบรมการดับเพลิง การอพยพหนีไฟ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และกิจกรรมฝึกอบรมการรับมือเหตุไม่คาดฝัน เป็นต้น จากนั้น คณะทำงานฯ ได้เยี่ยมชมการจัดสภาพแวดล้อมและห้องเรียนนักเรียนระดับปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดประสาทนิกรและโรงเรียนวัดประสาทนิกร