ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ขับเคลื่อนพร้อมรับฟังปัญหากลุ่มวิสาหกิจชุมชนอุทัยธานี

    เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 จังหวัดอุทัยธานี นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนางสาวคมขวัญ กาญจนกุญชร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาวิสาหกิจชุมชนจังหวัดอุทัยธานี ตามโครงการเสริมสร้างความรู้ผู้ตรวจการแผ่นดินสู่การพัฒนาชุมชน กิจกรรมบูรณาการร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยมี นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานีให้การต้อนรับและสรุปผลการดำเนินงาน วิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านถนนใหม่ ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทันและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานบ้านเกาะอีเพลิน ตำบลหนองยาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี

   จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศมีมากกว่า 125,000 กลุ่ม และจังหวัดอุทัยธานีมีมากว่า 600 กลุ่ม ที่ผ่านมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหามาแล้วหลายจังหวัดซึ่งครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่รับฟังปัญหาวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีจำนวน 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านถนนใหม่ โดยมีนางวรรณวิภา ทิพรส ประธานกลุ่ม ให้ข้อมูลว่าวิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านถนนใหม่นี้เกิดจากการรวมตัวของแม่บ้านที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่บ้านถนนใหม่ ร่วมกันประกอบกิจกรรมหลายอย่างในช่วงว่างจากฤดูกาลทำนา ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักและเป็นที่ต้องการของลูกค้า เช่น น้ำพริกเผาผัดหมูกุ้ง น้ำพริกปลาย่างแมงดา น้ำพริกปลาร้าสับทรงเครื่อง และผลไม้แช่อิ่ม แต่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ก็ประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถขอการรับรองมาตรฐาน อย. ได้เนื่องสถานที่ผลิตต้องได้รับการปรับปรุง โรงเรือนผลิตน้ำพริกชำรุดทรุดโทรมและขาดแคลนเงินทุนในการปรับปรุงพัฒนา สมาชิกกลุ่มเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดทำให้ไม่สามารถมาช่วยกิจกรรมกลุ่มได้อย่างเต็มที่ ตันทุนปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้เอง เช่นหอมแดง กระเทียม มีราคาแพงขึ้น

   หลังจากนั้นเดินทางไปรับฟังปัญหาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานบ้านเกาะอีเพลิน โดยมีนายสายัญ พลนาคประธานกลุ่ม ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่หมู่บ้านเกาะอีเพลิน มีไม้ไผ่เกิดขึ้นจำนวนมากกระจายอยู่ตามหัวไร่ปลายนาแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ด้วยเหตุว่าไม้ไผ่เป็นไม้ที่ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ผนวกเข้ากับคนในชุมชนมีความรู้ในด้านการจักสานไม้ไผ่เพื่อเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้สอยได้ในครัวเรือนที่เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นจึงมีแนวคิดว่าต้องมีการศึกษาเรียนรู้และถ่ายทอดมายังลูกหลานจาก รุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาภูมิปัญญาไม่ให้สูญหายจึงได้รวบรวมสมาชิกที่มีความรู้ความชำนาญด้านการจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เช่น สุ่มไก่ สุ่มปลา แคร่ ห้างชุดโต๊ะ ไม้กวาดดอกพง ไม้กวาดทางมะพร้าว จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานบ้านเกาะอีเพลิน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 26 คน และดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน ได้รับการตอบรับที่ดีจาก ลูกค้าที่ให้ความสนใจ และมีการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดีและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ก็ได้สะท้อนปัญหา เช่น ขาดเครื่องจักที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาชิ้นงานให้มีความละเอียดปราณีตมากยิ่งขึ้น ยังมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ เช่น กระท่อม โต๊ะ ซุ้มเคาน์เตอร์บาร์เนื่องจากรถที่ใช้ขนส่งบริการมีขนาดเล็ก

    ทั้งนี้ ปัญหาแต่ละกลุ่มที่ได้สะท้อนมาในวันนี้นั้นจะเก็บรวบรวมเป็นข้อมูล เสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งปัญหาแต่ละกลุ่มจะมีปัญหาคล้าย กัน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประชุมกับหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนั้นเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นปัญหาพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ หลายภาคส่วนต้องให้ความสำคัญร่วมกันแก้ไขให้ความช่วยเหลือ ในเบื้องต้นหน่วยงานราชการในพื้น เช่น อำเภอ สำนักงานเกษตร หน่วยงานพัฒนาชุมชน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาส่งเสริมตามหน้าที่และอำนาจที่รับผิดชอบ เช่น เรื่องการทำบัญชีครัวเรือน หรือการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ให้มีความทันสมัย หรือแนะนำการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นการเพิ่มยอดให้มากยิ่งขึ้นและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะได้มีความเข้มแข็งเกิดความยั่งยืน ที่มั่นคงตลอดไป